นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์เฟซบุ๊ก Watana Muangsook โดยเล่าถึงผลงานการเจรจาทางการค้าและการต่างประเทศของ นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีว่า
นายกทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีที่ทำให้ไทยมีอำนาจต่อรองสูงที่สุดในภูมิภาคนี้ สมัยที่เป็นนายกท่านได้รับเกียรติไปเยือนประเทศมหาอำนาจทั้ง 5 ที่มีที่นั่งถาวรในสหประชาชาติ ได้แก่ จีน รัสเซีย สหรัฐ อังกฤษและฝรั่งเศส ด้านการถูกเยือนในปี พ.ศ. 2546 มีประเทศมหาอำนาจ 3 ประเทศขอมาเยือนแบบ State Visit พร้อมกันได้แก่ จีน รัสเซีย และสหรัฐ
หัวใจสำคัญของความสำเร็จของนายกทักษิณคือการใช้เวทีทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองให้กับประเทศ จึงทำให้มหาอำนาจทั้งหลายไม่มีความหวาดระแวงเพราะเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจไม่ใช่ความร่วมมือทางการเมือง เช่น การประชุมเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation) ซึ่งเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจเมื่อไทยเป็นเจ้าภาพเราก็สามารถเชิญทั้งจีนและไต้หวันมาประชุมพร้อมกันได้ นอกจากนี้นายกทักษิณยังเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง ACD (Asia Cooperation Dialogue) เพื่อใช้เป็นเวทีเจรจาทางธุรกิจของทุกประเทศเราจึงได้เห็นประเทศที่มีปัญหาทางการเมืองระหว่างกัน เช่น จีนกับญี่ปุ่น จีนกับอินเดีย ญี่ปุ่นกับเกาหลี หรืออินเดียกับปากีสถาน เป็นต้น สามารถมาประชุมในเวทีเดียวกันและเจรจาในโต๊ะเดียวกันได้โดยไม่มีปัญหาเพราะไม่ใช่เวทีทางการเมือง
นอกจากนี้ นายกทักษิณยังใช้การซื้ออาวุธเป็นเครื่องมือต่อรองทางการค้าและสร้างสมดุลทางการเมืองในเวลาเดียวกัน เช่น เมื่อคราวที่ไทยประสบปัญหาการระบาดของไข้หวัดนกทำให้เราส่งออกสัตว์ปีกไม่ได้ ตอนนั้นผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตพิเศษ (special envoy) ของนายกรัฐมนตรีให้ไปเจรจาซื้อเครื่องบินรบแบบ SU-30 กับประธานาธิบดีรัสเซียแลกกับไก่ซึ่งจะทำให้เราได้โควต้าส่งออกสินค้าไก่ไปยังรัสเซียปีละ 50,000-100,000 ตันโดยปริยาย สิ่งที่ผมเสียดายที่สุดคือภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 เรากลับยกเลิกข้อตกลงนี้แล้วหันไปซื้อเครื่องบินรบจากสวีเดนซึ่งมีประชากรเพียง 9 ล้านคนแทนทำให้เราสูญเสียโควต้าส่งออกไก่ไปรัสเซีย
ในช่วงเวลานั้นมี 3 ประเทศที่ต้องการขายเครื่องบินรบให้เรา คือ เอฟ 18 จากสหรัฐ กริฟเพนจากสวีเดน และ SU-30 จากรัสเซีย เหตุที่นายกทักษิณเลือกที่จะซื้อจากรัสเซียเพราะมีประชากรประมาณ 125 ล้านคนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ในขณะที่สวีเดนมีเพียง 9 ล้านคน ส่วนสหรัฐเราซื้อของอย่างอื่นมากแล้วเช่นเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง เป็นต้น ในทางการเมืองการซื้อเครื่องบินรบจากรัสเซียจะเป็นการสร้างสมดุลทางอำนาจระหว่างจีน สหรัฐ และรัสเซีย ทำให้ไทยมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นนอกจากประโยชน์ทางการค้าที่เราได้โควต้าส่งออกไก่ไปรัสเซียอีกปีละนับแสนตัน
นายกทักษิณยังใช้การต่อรองทางการค้าสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง เช่น การยอมรับความเป็นตลาดเสรีของจีน (market economy) เมื่อคราวที่จีนขอเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) นอกจากไทยจะไม่ต่อรองผลประโยชน์จากจีนแล้วท่านยังช่วยล็อบบี้ให้กลุ่มประเทศในอาเซียนพลัสยอมรับสถานะดังกล่าวของจีนด้วย เพราะการเจรจาดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทุกชาติสมาชิก ดังนั้น ถึงแม้ไทยและอาเซียนจะไม่ต่อรองแต่หากประเทศอื่น เช่น สหรัฐหรืออียูต่อรอง ไทยและอาเซียนก็จะได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน จึงไม่มีประโยชน์ที่ไทยจะไปต่อรองผลประโยชน์จากจีนเพื่อให้ชาติอื่นได้ประโยชน์แลกกับการเสียความรู้สึกที่จีนจะมีต่อไทย
หรือเมื่อคราวที่รัสเซียขอเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก นายกทักษิณก็สั่งการให้ผมไม่ต่อรองผลประโยชน์ใดๆ จากรัสเซีย เพราะสิ่งที่เราจะได้รับไม่คุ้มกับการสูญเสีย การไม่ต่อรองผลประโยชน์จากรัสเซียหรือจีนไม่ทำให้มหาอำนาจอย่างสหรัฐหรือชาติทางตะวันตกเกิดความหวาดระแวงหรือมองว่าไทยไม่มีความเป็นกลางเพราะเป็นเรื่องทางการค้าไม่ใช่เรื่องทางการเมือง
ในสมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ประเทศไทยถูกทั้งสหรัฐและอียูใช้มาตรการทางภาษี เช่น ไทยถูกสหรัฐฟ้องทุ่มตลาด (Anti-Dumping) กุ้งพร้อมกับอีก 5 ประเทศ ได้แก่ เวียตนาม อินเดีย จีน บราซิลและเอกวาดอร์ ผลการเจรจาซึ่งนายกทักษิณเป็นผู้อยู่เบื้องหลังปรากฏว่าเมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ประกาศอัตรา AD เบื้องต้นทำให้ไทยถูกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำสุด คือ 6.39% ในขณะที่จีนถูกเรียกเก็บ 112.81% เวียตนาม 93.13% และบราซิล 36.91% เป็นต้น หรือเมื่อคราวที่ไทยทูกอียูตัดจีเอสพีกุ้งนายกทักษิณก็ใช้เวทีที่ประธานาธิบดีฌัก ชีรัก มาเยือนประเทศไทยต่อรองแลกกับการซื้อเครื่องบินแอร์บัสทำให้เราได้จีเอสพีคืนจากอียู ทั้งหมดเกิดจากการวางตัวอย่างเหมาะสมและดำเนินนโยบายอย่างชาญฉลาดทำให้ไทยมีอำนาจต่อรองทั้งทางการค้าและการเมือง
ในทางการเมืองไทยยึดถือนโยบายจีนเดียว ทุกเรื่องที่เป็นปัญหาการเมืองเราจะยึดถือและปฏิบัติตามข้อตกลงและกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด โดยไม่ทำให้ชาติใดชาติหนึ่งได้สิทธิพิเศษทางการเมืองมากกว่าชาติอื่น ดังนั้น แม้ในสมัยที่เป็นรัฐบาลนายกทักษิณเดินทางไปเยือนจีนบ่อยมาก บางทีปีละ 3-4 ครั้ง แต่ก็เป็นการเยือนโดยอาศัยเวทีเศรษฐกิจ เช่น เอซีดี โบเอา เอเปค หรือซัมมิทต่างๆ เป็นต้น การไปใกล้จีนโดยใช้เวทีทางเศรษฐกิจไม่ทำให้สหรัฐหรือมหาอำนาจอื่นเกิดความหวาดระแวง
หลังการยึดอำนาจโดย คสช. ด้วยความไร้สติปัญญาของรัฐบาลทหารที่ขาดความรู้ความเข้าใจการเมืองระหว่างประเทศทำให้ไทยสูญเสียสถานะทางการเมือง หลายเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น เช่น การส่งคืนผู้อพยพชาวอุยกูร์ให้ประเทศต้นทางโดยฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ หรือการห้ามโจ ชัว หว่อง เข้าประเทศไทย ทำให้มหาอำนาจทางตะวันตกมองว่าไทยมิได้ดำเนินนโยบายการเมืองระหว่างประเทศให้เป็นไปตามข้อตกลงหรือกฎหมายจึงเป็นผลให้ไทยถูกลดระดับความสำคัญดังจะเห็นได้จากการประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งนี้ที่ผู้นำสหรัฐและผู้นำอีกหลายประเทศปฏิเสธการเดินทางมาร่วมประชุมเอง แต่กลับส่งตัวแทนในระดับต่ำสุดของที่เคยเป็นตัวแทนไปประชุมมาร่วมประชุมแทน ทั้งหมดต้องโทษพลเอกประยุทธ์ที่ทำให้ประเทศที่เคยเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาคนี้กลายเป็นประเทศที่ไม่ได้รับความสำคัญและไม่ได้รับการให้เกียรติ
นอกจากนายกทักษิณแล้ว บุคคลอีกท่านที่ทำให้ประเทศไทยมีอำนาจต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศสูงสุดคืออดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศที่ชื่อสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งถือเป็นขุนพลสำคัญที่ดำเนินนโยบายระหว่างประเทศได้อย่างชาญฉลาด ผมมีโอกาสทำงานร่วมกับท่านในทุกเวทีที่นายกรัฐมนตรีไปเยือนต่างประเทศ เพราะทุกเวทีของการเจรจาขวามือของนายกคือ รมว. กต. และซ้ายมือคือ รมว. พณ. เสมอ ผมจึงกล้ารับรองว่านายกทักษิณและรัฐมนตรีสุรเกียรติ์เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่เก่งที่สุดที่ประเทศไทยเคยมีมา
บทความนี้ผมตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อเป็นวิทยาทานให้กับรัฐบาลประยุทธ์ที่ดำเนินนโยบายทั้งในและระหว่างประเทศผิดพลาดมาโดยตลอด เผื่อจะเกิดต้นทุนทางปัญญาอันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนสืบไป