จากกรณีที่มีข่าวว่าเงื่อนไขการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ ฝ่ายเอกชนหรือกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือ CPH จะดำเนินการก่อสร้างตามระยะเวลาที่กำหนด จากนั้นภาครัฐจึงทยอยชำระค่าก่อสร้างตามมา เปลี่ยนเป็นให้เอกชน สร้าง และภาครัฐทยอยผ่อนจ่ายระหว่างดำเนินการ หรือสร้างไป จ่ายไป นั้น
ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เงื่อนไขการเข้ามาประมูลงาน หรือ RFP ว่าอย่างไร ก็ตามนั้น จะขาด จะเกินไม่ได้ เป็นเรื่องสำคัญเพราะรัฐเป็นคู่สัญญา และถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ฝ่ายที่เขาแพ้ประมูล รวมไปถึงเอกชน ที่ไม่เข้าประมูลเพราะเขาติดเงื่อนไขที่ประกาศไว้ ทางนั้นจะรู้สึกอย่างไร
ทั้งนี้ บางคนคิดเอาเองว่า EEC มี พ.ร.บ.ฉบับพิเศษ คอยอำนวยความสะดวก แต่ข้อเท็จจริงจริงคือกฎหมายฉบับนั้น ก็ต้องใช้คู่กับกฎหมายฉบับอื่น อาทิ กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ
RFP ไม่ได้ตั้งเงื่อนไขให้เอกชนต้องดำเนินการแต่ฝ่ายเดียว แต่มีเรื่องที่รัฐต้องจัดการให้ อาทิ การส่งมอบพื้นที่ตามเวลาที่กำหนด หน่วยงานต่างๆ ต้องทำให้ทัน แต่ถ้ามีเหตุสุดวิสัย ก็ยืดเวลาก่อสร้างออกไปได้ อย่าไปคิดว่าจะให้รัฐชดเชยด้วยทางอื่น
สำหรับคนในส่วนของภาครัฐที่ไปให้ข่าว ขอให้เข้าใจด้วยว่า เรื่องการเซ็นสัญญาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คู่สัญญาคือเอกชน กับการรถไฟแห่งประเทศไทย มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคอยดูแล ยิ่งบางเรื่องต้องอาศัยอำนาจของคณะรัฐมนตรี จะไปพูดก่อนไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐ
ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวลือว่ากลุ่ม CPH เตรียมปรับลดสัดส่วนด้านการลงทุน ในโครงการรถไฟความเร็วสูงข้างต้น นายอนุทิน ตอบว่า ต้องดูว่า RFP อนุญาตให้ทำหรือไม่ แต่ส่วนตัวคิดว่าทำไม่ได้ เพราะถ้าทำได้ เท่ากับ ใครมีเงินก็เข้ามาประมูล เมื่อได้โครงการ ก็กระจายให้เอกชนรายอื่นรับช่วงต่อเช่นนั้นหรือ คิดว่าไม่ถูกต้อง เพราะภาครัฐ ไว้ใจ CPH ไม่ได้ไว้ใจผู้ที่จะมารับช่วงต่อ