ที่ห้อง Sapphire 203 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน และนายโรเบิร์ต ซี. โอไบรอัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 7 ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 7 มีขึ้นเพื่อทบทวนความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน-สหรัฐฯ ในมิติการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางของความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯในอนาคต และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยมีผู้แทนจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน
นางนฤมล ระบุอีกว่า นายกฯกล่าวให้การต้อนรับนายโรเบิร์ต ซี. โอไบรอัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาฯ อย่างเป็นทางการ ในฐานะประธานอาเซียน ชื่นชมบทบาทที่แข็งขันของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคซึ่งช่วยให้อาเซียนได้พัฒนาเป็นประชาคมที่มีพลวัตและความเจริญรุ่งเรือง และขอบคุณที่สหรัฐฯ สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนผ่านกลไกสำคัญรวมไปถึงกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) เออาร์เอฟ และเอดีเอ็มเอ็มพลัส และในปีนี้ อาเซียนและสหรัฐฯได้ร่วมกันจัดการฝึกร่วมทางทะเลเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวอีกว่า นายกฯระบุด้วยว่าสหรัฐฯมีบทบาทสนับสนุนมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจดิจิทัล และพลังงาน รวมถึงการมีบทบาทของนักลงทุนสหรัฐฯ ที่เป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญต่อการเจริญเติบโตในภูมิภาคที่ครอบคลุมและยั่งยืน และยินดีที่ภาคเอกชนไทยและสหรัฐฯ ร่วมกันริเริ่มจัดการประชุม Indo-Pacific Business Forum ครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทย ในวันนี้ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าการประชุมในวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่อาเซียนและสหรัฐฯ จะได้แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ และหวังที่จะเห็นพัฒนาการในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน-สหรัฐฯในทุกมิติ เพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ของประชาชนอาเซียนและสหรัฐฯ อย่างก้าวหน้าและยั่งยืน
นางนฤมล กล่าวด้วยว่า นายกฯได้เชิญชวนนักลงทุนสหรัฐฯ ให้ร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค รวมถึงสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งบทบาทที่แข็งขันของสหรัฐฯนี้จะช่วยต่อยอดการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดหลักของการประชุมอาเซียนในปีนี้ ทั้งนี้ นายกฯได้ขอบคุณทุกส่วนที่มีส่วนร่วมในการแสดงวิสัยทัศน์ และขอบคุณ สปป.ลาว ที่ทำหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ อย่างมีประสิทธิภาพตลอดปีที่ผ่านมา
โดยก่อนหน้านี้ ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี เวลา 08.00 น.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พบหารือกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญ
นายกฯ กล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนประเทศไทยในรอบ 6 ปี ยินดีที่อาเซียนและญี่ปุ่นบรรลุการเจรจาถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 ว่าด้วยความเชื่อมโยง พร้อมหวังว่าอาเซียนจะได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นภายใต้ ASEAN Outlook on Indo-Pacific โดยเฉพาะในประเด็นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การเข้าถึงบริการทางการเงิน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการจัดการขยะทะเล
นอกจากนี้ นายกฯขอให้ญี่ปุ่นสนับสนุนการส่งเสริมความเชื่อมโยง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งชื่นชมญี่ปุ่นในฐานะประธาน G20 ในการจัดทำเอกสารผลลัพธ์สำคัญต่างๆ ของการประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง G20 Principles on Quality Infrastructure Investment ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง เพื่อสอดประสานข้อริเริ่มด้านความเชื่อมโยงทั้งระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค
ด้านนายกฯญี่ปุ่นชื่นชมบทบาทการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย โดยเฉพาะบทบาทผู้นำของนายกรัฐมนตรีที่สามารถผลักดันให้บรรลุผลการประชุมที่สำคัญต่อการพัฒนาภูมิภาคประสบความสำเร็จ โดยญี่ปุ่นจะเดินหน้าร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป รวมถึงความร่วมมือการแก้ไขปัญหาประเด็นท้าทายสำคัญในภูมิภาคด้วย
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีทั้งสองต่างยินดีต่อความร่วมมือในการส่งเสริม SMEs และ Startups โดยมีการ การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างบริษัทขนาดใหญ่และ Startups ของไทยและญี่ปุ่น จำนวน 6 ฉบับ เมื่อวันที่ 2 พ.ย.62 รวมทั้ง ความร่วมมือไทย – ญี่ปุ่น ในการพัฒนาประเทศที่สาม ซึ่งมีการลงนามบันทึกช่วยจำว่าด้วยกรอบความร่วมมือแบบหุ้นส่วนระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ระยะที่สาม (Memorandum on Japan-Thailand Partnership Programme Phase 3) เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 62
นายกฯทั้งสองฝ่ายยังได้หารือประเด็นความร่วมมือในภูมิภาคสำคัญ เช่น ความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียนและกรอบ G20 ซึ่งไทยและญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในปีนี้ ความร่วมมือภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) และกรอบลุ่มน้ำโขง – ญี่ปุ่น ความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สถานการณ์ในรัฐยะไข่ และ ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและกีฬาระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ก่อนจบการหารือพล.อ.ประยุทธ์ได้อวยพรให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกใน ปี 2563 ด้วย
อีกด้านหนึ่ง รท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอาเซียน ล้มเหลว ผู้นำชาติมหาอำนาจ กลุ่มอาเซียนพลัส ที่ไม่ได้เป็นชาติสมาชิก แต่เป็นคู่ค้าสำคัญ ไม่ได้เดินทางมา โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ลดความสำคัญไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูง ส่งเพียงผู้แทนที่มีความสำคัญน้อย ส่อให้เห็นถึงนัยยะทางการเมือง ความสัมพันธ์ทางการทูตที่พัฒนาไปในทางที่แย่ลง สะท้อนถึงความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ที่ไม่สามารถรักษาสัมพันธ์เหมือนในอดีต เราได้สูญเสียสถานะทางการทูต เมื่อย้อนไปในอดีต นายโดนัลป์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี เดินทางมาร่วมประชุมที่วประเทศฟิลิปปินส์ รัฐบาลนายบารัค โอบามา สมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯ นายโอบามา ยังเดินทางมาประชุมอาเซียนซัมมิท ความสำคัญการประชุมอาเซียน ไม่ได้มีเพียงแค่งานเลี้ยงที่น่าสนใจ มีอาหารที่ดี มีดนตรีเพราะ แต่ควรใช้เวทีนี้เป็นเวทีพบปะผู้นำ ที่จะนำมาสู่การไกล่เกลี่ยแก้ไข
“การประชุมครั้งนี้ ไม่ได้สร้างความประทับใจ สร้างความคุ้มค่า การเจรจาก็ยังห่างไกลจากเป้าหมาย ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศตั้งเป้า จะสร้างการเป็นหุ้นส่วน พัฒนาที่ยั่งยืนในชาติสมาชิกอาเซียน และสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวในอาเซียน โดยการประชุมเจรจาการค้า3-4วันที่ผ่านมา ห่างไกลจากเป้าหมายที่พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศไว้ ถือว่าล้มเหลว และคงไม่มีโอกาสแก้ตัวอีกแล้ว สิ่งนี้จะติดอยู่ในสมุดพก เป็นความล้มเหลว ถือว่าติด F ในการทำหน้าที่ประธานอาเซียน”
///