หน้าแรก news “กนกวรรณ” รับข้อเสนอชาวลูกเสือ เตรียมหารือผลิตครูวิชาเอกลูกเสือโดยตรง พร้อมจัดระบบอบรมครูผู้สอนอย่างเท่าเทียม

“กนกวรรณ” รับข้อเสนอชาวลูกเสือ เตรียมหารือผลิตครูวิชาเอกลูกเสือโดยตรง พร้อมจัดระบบอบรมครูผู้สอนอย่างเท่าเทียม

0
“กนกวรรณ” รับข้อเสนอชาวลูกเสือ เตรียมหารือผลิตครูวิชาเอกลูกเสือโดยตรง พร้อมจัดระบบอบรมครูผู้สอนอย่างเท่าเทียม
Sharing

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับข้อเสนอของชาวลูกเสือ เกี่ยวกับการผลิตและพัฒนาครูผู้สอนวิชาลูกเสือ เนตรนารี และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในระยะยาว จากนายวีระกุล อรัณยะนาค ผู้บังคับการค่ายชุมนุม (อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ) ในระหว่างงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 21 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ค่ายวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี

นายวีระกุล อรัณยะนาค ผู้บังคับการค่ายชุมนุม กล่าวว่า ได้หารือกับครูผู้สอนลูกเสือและผู้เกี่ยวข้องกับกิจการลูกเสือ พร้อมรวบรวมข้อเสนอ ความคิดเห็น และแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของกิจการลูกเสือ เสนอต่อ รมช.ศึกษาธิการ ช่วยผลักดันในประเด็นที่สำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่

1.การสนับสนุนอบรมพัฒนาครูผู้สอนวิชาลูกเสือ

ที่ผ่านมา ในเรื่องของการอบรมพัฒนาครูผู้สอนวิชาลูกเสือ ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ทั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในเข้ารับการอบรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง ในขณะที่ครูผู้สอนวิชาอื่นในโรงเรียนเดียวกัน ทั้งครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย เป็นต้น จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการอบรมจากกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น เพื่อพัฒนาครูผู้สอนวิชาลูกเสือให้เท่าทันผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการ และเทคโนโลยียุคดิจิทัล จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนการอบรมพัฒนาครูผู้สอนวิชาลูกเสือ เนตรนารี และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน อย่างเท่าเทียมและต่อเนื่อง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ครูผู้สร้างเด็กเยาวชนให้เป็นคนดี มีระเบียบวินัย อดทน เสียสละ รู้รักสามัคคี และมีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตลอดจนรักถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง ตามนโยบายของ รมช.ศึกษาธิการ

2.จัดหลักสูตรผลิตครู “ลูกเสือ เนตรนารี และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน” ระดับปริญญาตรี

เนื่องจากสังคมโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีความรู้ วิทยาการ ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะวิชาลูกเสือ ซึ่งเป็นความรู้ระดับโลก ที่ต้องใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความรู้และเข้าใจในรายละเอียด ข้อมูล หลักเกณฑ์และระเบียบต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับบุคคล หน่วยงาน จังหวัด ไปจนถึงระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ดังนั้น ครูและผู้เกี่ยวข้องกับกิจการลูกเสือ จึงขอเสนอให้มีกระบวนการสร้างครูผู้รู้ลึกรู้จริง และมีความเชี่ยวชาญด้านการลูกเสือ โดยออกแบบหลักสูตรผลิตครูวิชาเอกลูกเสือ เนตรนารี และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ระดับปริญญาตรี โดยเฉพาะ ร่วมกับฝ่ายผลิตครูและสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสร้างครูที่จะไปสอน ถ่ายทอดความรู้ และออกแบบกิจกรรมผู้เรียน ให้สอดคล้องกับทักษะผู้เรียนและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น พร้อมประสานเชื่อมโยงกับโครงการคุรุทายาท เป็นการนำร่องในรุ่นแรก จากนั้นจึงกระจายขยายผลไปในระดับเขตพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อสร้างความรู้ที่ถูกต้อง มีความทันสมัย และเท่าทันการเปลี่ยนแปลง ทั้งยังสร้างขวัญกำลังใจแก่ครูผู้สอนลูกเสือด้วย

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเป็นเวลา กว่า 3 เดือน ก็พยายามรับฟังปัญหาและเสียงสะท้อนของคนทำงานมาโดยตลอด โดยเฉพาะครูและบุคลากรของ กศน. สช. และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน ตลอดจนแก้ไขข้อขัดข้อง ปัญหา และอุปสรรคต่าง ๆ โดยอะไรที่เป็นเรื่องเร่งด่วนก็จะทำให้ก่อน และวางแผน หารือร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง เครือข่าย และหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวง เพื่อช่วยหาทางออกร่วมกันในเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการทำเองไม่ได้โดยลำพัง

“เช่นเดียวกับการพัฒนาครูผู้สอนวิชาลูกเสือ เป็นเรื่องที่ให้ความสำคัญ เพราะเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ ของการสร้างคนดีให้กับประเทศ และเห็นด้วยว่า กระบวนการสร้างและให้ความรู้วิชาลูกเสือ ซึ่งเป็นวิชาที่เรียนกันหลายประเทศทั่วโลก ด้วยการอบรมครูเพียงไม่กี่ครั้ง ในระยะเวลาสั้น ๆ และครูต้องเสียค่าใช้จ่ายเองดังเช่นที่ผ่านมา อาจจะยังไม่ตอบโจทย์การปลูกฝังกระบวนการลูกเสือ เนตรนารี และทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ตนจึงรับข้อเสนอดังกล่าวไว้ พร้อมจะนำเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหารือผู้เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันหลักสูตรวิชาเอกลูกเสือ ระดับปริญญาตรี ให้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ที่จะเกิดกระบวนการสร้างและฝึกหัดคนที่ต้องการเป็นครูสอนลูกเสือ ให้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนมีความรู้เพียงพอที่จะไปสอนวิชาลูกเสือ เนตรนารี และกิจกรรมพัฒนาให้กับผู้เรียน ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งกิจการลูกเสือเป็นสำคัญ ทั้งยังช่วยหล่อหลอมทักษะลูกเสือได้ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา เรียนอย่างมีความสุข สร้างทักษะการใช้ชีวิตอย่างมีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน เรียกได้ว่า เป็นผู้มีความพร้อมรอบด้าน และมีทักษะชีวิต (Soft skill) โดยเฉพาะความมีระเบียบวินัย ตามดำริของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างเด็กในวันนี้ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเข้มแข็ง ไปพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงในอนาคต” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

ขอบคุณ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สร.ศธ.

 


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่