กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสมาคมวิชาชีพช่างผมไทย เปิดอบรมธุรกิจและบุคคลในวิชาชีพเสริมความงาม ดึงกูรูช่างผมชื่อดังของเมืองไทยร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ตรงในการสร้างธุรกิจให้เป็นมืออาชีพ พร้อมการันตีเรียนจบกลับไปพัฒนาธุรกิจบิวตี้ในชุมชน ให้แข่งขันกันเติบโตได้แน่ คาดกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นธุรกิจบริการเสริมสวยให้กลับมาคึกคักสร้างเม็ดเงินสะพัดได้ในช่วงปลายปี
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตรพิเศษ “การบริหารธุรกิจเสริมสวยอย่างมืออาชีพ” ในวันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2562 ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่ากิจกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายการเร่งรัดพัฒนาธุรกิจบริการไทยให้เข้มแข็งเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยในวันนี้ได้จัดการอบรมร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสมาคมวิชาชีพช่างผมไทย สำหรับหลักสูตรนี้ได้แบ่งการอบรมเป็น 2 รุ่น รุ่นที่ 1 เป็นเจ้าของธุรกิจเสริมสวยมาที่เปิดกิจการแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือต้องการขยายสาขา อบรมระหว่างวันที่ 13, 20-21 พฤศจิกายน 2562 และรุ่นที่ 2 สำหรับช่างและนักศึกษาที่กำลังศึกษาหลักสูตรช่างทำผม แต่งหน้า ทำเล็บ และเสริมความงาม อบรมระหว่างวันที่ 13, 27-28 พฤศจิกายน 2562
รมช.พณ. กล่าวเพิ่มเติมว่า “กิจกรรมในวันนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม การบริหารธุรกิจร้านเสริมสวย และช่างทำผมมืออาชีพชื่อดังของเมืองไทย อาทิ ดร.สมศักดิ์ ชลาชล นายกสมาคมวิชาชีพช่างทำผมไทย, คุณไกรวิทย์ พุ่มสุโข ผู้บริหาร Sukho Salon, คุณสมเพชร ศรีชัยโย ผู้อำนวยการสถาบัน Anthony Hair, คุณวรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้วย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสวนาเรื่องเสริมสวยมืออาชีพ บทเรียนสำหรับประกอบการยุคใหม่, เทรนด์ผมสมัยใหม่ มืออาชีพต้องตามทัน, และเทคนิคการบริหารงานให้ประสบความสำเร็จเคล็ด (ไม่) ลับ สำหรับช่างเสริมสวยมืออาชีพ อีกทั้ง กระทรวงฯยังได้ขอความร่วมมือจากผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับธุรกิจทำผมชั้นนำเพื่อมาจำหน่ายในราคาพิเศษ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านวัตถุดิบหลักที่ใช้ให้บริการและสร้างรายได้เสริมแก่ธุรกิจที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้”
“มากไปกว่านั้น ธุรกิจที่ผ่านการอบรมจะสามารถนำความรู้กลับไปปิดจุดอ่อน (Pain Point) ร้านเสริมสวยของตนเอง ด้วยการใช้เทคนิคด้านการตลาดมาช่วยดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้าน การเลือกทำเลทอง ในการลงทุน การครองใจลูกค้าให้กลับมาใช้บริการซ้ำและการซื้อใจพนักงานให้เต็มใจในงานบริการ การปักหมุดร้านให้เป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์ การบริหารเงินและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการปรับภาพลักษณ์ร้านเสริมสวยให้น่ามอง”
“ร้านเสริมสวยเป็นธุรกิจที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน มีเสน่ห์ในการเข้าถึงคนในชุมชนได้ทุกเพศทุกวัย หากพิจารณาให้ดีจะถือว่าเป็นธุรกิจสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น แม้ธุรกิจนี้จะมีจำนวนมากเพราะเป็นธุรกิจที่ไม่ซับซ้อน งบลงทุนไม่มากส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูง แต่ถ้าสามารถพัฒนาตนเองเข้าสู่มาตรฐานวิชาชีพได้ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถแยกความแตกต่างระหว่างร้านเสริมสวยทั่วไปกับร้านที่มีความเป็นมืออาชีพได้ ซึ่งแน่นอนลูกค้าจะต้องเลือกเข้าร้านที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า อีกทั้งถ้าธุรกิจสามารถรวมกลุ่มกันภายใต้วิชาชีพเดียวกันได้ ก็จะเพิ่มความสามารถในการพัฒนาวิชาชีพและเพิ่มอำนาจการต่อรองทางธุรกิจได้ ช่วยประหยัดต้นทุนในการบริหารธุรกิจได้อีกทาง” รมช.พณ. กล่าวในท้ายที่สุด
จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2559 พบว่า มีธุรกิจเสริมสวยที่จัดตั้งในอยู่ในประเทศไทย จำนวน 121,296 ราย และมีมูลค่าทางการตลาดรวมกันทั้งประเทศกว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ข้อมูลจากของกรมการจัดหางาน ยังพบว่า อัตราการเติบโตของธุรกิจเสริมสวยในประเทศไทยระหว่างปี 2558-2562 อยู่ที่ร้อยละ 3.4