น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ หรือ’อ้น’ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวเพื่ออ่านคำแถลงปิดคดีกรณีการถือหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดความเป็นส.ส.สิ้นสุดลงหรือไม่ ในวันที่ 20 พ.ย.นี้ ที่ระบุว่า ศาลฎีกาใช้คนละมาตรฐานกับศาลรัฐธรรมนูญเป็นการกล่าวข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน เพราะศาลฎีกาพิจารณากรณีของผู้สมัครส.ส.นายภูเบศว์ เห็นหลอดในประเด็นคุณสมบัติการเป็นผู้สมัครส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) แต่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีส.ส. พรรคฝ่ายร่วมรัฐบาล 41 คนที่ถูกพรรคอนาคตใหม่ร้องนั้น ในประเด็นที่ร้องขอให้ ส.ส. ทั้ง 41 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่ เป็นการพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรค 2 ว่า “หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย” ซึ่งเป็นคนละเหตุกับของผู้สมัคร ส.ส. นายภูเบศว์ การแถลงให้ข้อมูลว่าศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญใช้คนละมาตรฐานนั้นไม่น่าจะถูกต้อง การเทียบเคียงของที่แตกต่างกันว่าจะต้องเหมือนกันนั้นเป็นการใช้ตรรกะเหตุผลที่ผิด และสำหรับคำอธิบายว่าบริษัทวีลัคมีเดีย ไม่ได้เป็นบริษัทเกี่ยวกับสื่อเพราะเลิกพิมพ์หนังสือไปแล้วนั้น ก็ขอให้พิจารณากรณีผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ นายทวีป ขวัญบุรีที่ถูกตัดสิทธิสมัคร ส.ส. เแม้จะหยุดการพิมพ์หนังสือไปแล้วกว่า 20 ปี มาเทียบเคียง
น.ส.ทิพานัน กล่าวถึงวันที่ทำการซื้อขายโอนหุ้นระหว่างนายธนาธรและมารดา สังคมเกิดความสับสนอีกครั้งจากการให้ข้อมูลที่ขัดกันเองของนายธนาธร เพราะที่ผ่านมานายธนาธรกล่าวยืนยันและแสดงหลักฐานการโอนหุ้นว่าทำขึ้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 แต่จากคลิปการแถลงปิดคดีประมาณนาทีที่ 17 เป็นต้นไป นายธนาธรกลับกล่าวเองชัดเจนว่าโอนเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2562 ทำให้ประชาชนที่เชื่อในบรรทัดฐานว่า ความจริงพูดกี่ครั้งก็เหมือนเดิม เกิดความสงสัยว่าทำไมนายธนาธรถึงพูดแตกต่างกัน ความเครียดความกดดันใดทำให้พูดออกมาแตกต่างกันอีกแล้ว
รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า และอีกประเด็นที่สำคัญคือ การกล่าวอ้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคนละฉบับ คนละมาตราที่แตกต่างกันมาสนับสนุนว่าตัวเองไม่ผิดนั้น ประชาชนที่ฟังการแถลงมีความสงสัยว่านายธนาธรทำไปเพราะเข้าใจผิดหรือต้องการชี้นำสังคมให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ที่นายธนาธรแถลงอ้างนั้น เป็นเจตนารมณ์ของมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นมาตราที่บังคับใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยบัญญัติห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นสื่อ แต่ความผิดของนายธนาธรที่กำลังถูกพิจารณาเป็นเรื่องคุณสมบัติของ “ผู้สมัคร ส.ส.” ในขั้นตอนตั้งแต่สมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 98 (3) ซึ่งบัญญัติห้ามผู้สมัคร ส.ส. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นสื่อ ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมุ่งหวังปรับปรุงให้การเมืองโปร่งใสมากขึ้น จึงเป็นครั้งแรกที่บัญญัติห้ามเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นสื่อตั้งแต่การลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ดังนั้นการกล่าวอ้างของนายธนาธรจึงไม่น่าจะรับฟังได้
อีกทั้ง การที่นายธนาธรกล่าวอ้างว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจากกระบวนการพิจารณาคดีนั้น อยากให้นายธนาธรและทนายความที่ปรึกษาได้ทบทวน ทำความเข้าใจ ตัวบทมาตราของกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561เสียก่อนที่จะแถลงออกมาเช่นนั้น และอยากให้นายธนาธรชี้แจงว่าเหตุใดจึงแถลงปิดคดีนอกศาลซึ่งไม่มีผลทางกฎหมายและการวินิจฉัยชี้ขาดคดีเลย การแถลงนอกศาลดังกล่าวเป็นการแถลงฝ่ายเดียว ไม่มีกระบวนการตรวจสอบพิสูจน์พยานหลักฐานว่าสิ่งที่กล่าวอ้างเป็นจริงหรือไม่ การแถลงดังกล่าวกลับยิ่งทำให้เกิดความสับสนต่อสังคมว่าเป็นการแทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดีของศาลหรือไม่
“การมีความฝันและทำตามความฝันไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องดูด้วยว่าความฝันมันถูกหรือไม่ และวิธีการที่ทำตามความฝันมันถูกหรือเปล่า เช่น หากมีความฝันว่าอยากเป็นคนขี้หลอกลวงก็ไม่ควรฝันต่อแล้ว หรือฝันว่าอยากรวยซึ่งไม่ผิดแต่ดันไปใช้วิธีการหลอกลวงเงินคนอื่นมาเพื่อให้ตนเองรวย แบบนี้มันก็ไม่ถูกต้อง ซึ่งโดยส่วนตัว ดิฉันเองก็เคยมีความฝัน ฝันว่าจะมีเพื่อนร่วมอาชีพที่เป็นคนรู้ผิดชอบ ไม่สะดุดขาตัวเองหกล้มแล้วคอยแต่โทษคนอื่น ฝันว่าเขาจะเป็นคนรักษาสัญญาทำตาม MOU ฝันว่าเขาจะรักษาคำพูดที่เขาให้ไว้กับคนในองค์กร ฝันว่าเขาจะไม่โกหกหลอกลวงใครอีกต่อไป แต่เมื่อความจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น ดิฉันก็หยุดฝัน หยุดเอาความฝันนั้นมาหลอกตัวเองและหลอกคนอื่น ตื่นมาเผชิญความจริงและทำหน้าที่ในทางที่ถูกต้องต่อไป”รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าว