นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงข้อเท็จจริงรายงาน WEF ระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับรายงาน ของสภาธุรกิจโลก (World Economic Forum) เรื่องความเสี่ยงในระดับโลกและระดับภูมิภาคในการทำธุรกิจ (Regional Risk of Doing Business 2019) ซึ่งข่าวที่ออกมาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในบางกรณี ผมจึงขออธิบายทำความเข้าใจกับทุกท่านอีกครั้ง
รายงานฉบับดังกล่าวเป็นรายงาน เพื่อกระตุ้นให้แต่ละประเทศเตรียมรับมือภาวะการณ์ต่างๆที่อาจจะกระทบกับเศรษฐกิจในระยะยาว ไม่ใช่การรายงานภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเป็นการสอบถามความคิดเห็น จากนักลงทุนในภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลก เกี่ยวกับการคาดการณ์ในอนาคต
สำหรับผลการสำรวจความคิดเห็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นอันดับ 1 เพราะหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประชากรกว่า 50 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 56.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ความเสี่ยงที่ 2 คือ เรื่องการโจมตีทางไซเบอร์ ที่มีการลักลอบเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้นในภูมิภาคนี้ ความเสี่ยงที่ 3 คือ เรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น สถานการณ์ของเกาหลีเหนือ หรือ แรงกดดันจากสถานการณ์ สหรัฐ-จีน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม WEF ยังได้ทำการจัดลำดับความสามารถทางการแข่งขัน ปี 2019 ด้วย โดยประเทศไทยมีดัชนีความสามารถทางการแข่งขันที่ดีขึ้นจากปี 2018 คือจากเดิม 67.5 คะแนน เป็น 68.1 คะแนนและอยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก จากทั้งหมด 141 ประเทศ
ดังนั้นผมจึงขอย้ำอีกครั้งว่า รายงานดังกล่าว ไม่ได้บอกว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงในวันนี้ แต่เป็นการสำรวจเพื่อจะได้รู้ว่าแต่ละประเทศมีความเสี่ยงในอนาคตแต่ละหัวข้อดังกล่าวในระดับใดเท่านั้น
ผมขอเรียนกับทุกท่านว่า ข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยนั้น แม้ว่าเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกได้ แต่รัฐบาลได้พยายามทำทุกวิถีทาง ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และการท่องเที่ยว ผ่านโครงการ “ชิมช้อปใช้” การประกันรายได้สินค้าเกษตร ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และล่าสุด มันสำปะหลัง ซึ่งทำให้เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา กำลังซื้อและการบริโภคในประเทศ เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น
ด้านการลงทุนภาครัฐ ในช่วงก่อนสิ้นปี 2562 รัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือจะมีการลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสุดท้ายของปี 2562 และในปี 2563 ได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปีปฏิทินในปี 2562 มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 – ตุลาคม 2562 จำนวน 122,088 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 82 ของแผนการเบิกจ่ายลงทุนสะสม
ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณในปี 2563 ยอดเบิกจ่าย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2562 มีการเบิกจ่าย จำนวน 7,975 ล้านบาท โดยรัฐวิสาหกิจที่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย แผนงานปรับปรุงท่อเพื่อลดน้ำสูญเสียของการประปานครหลวง งานก่อสร้างปรับปรุงขยายและงานวางท่อขยายเขตจำหน่ายน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค และโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุดที่ 1 ปี 2559 ของการเคหะแห่งชาติ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติ สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทั้ง สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งสนใจการลงทุนด้านเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมใหม่
ผมเชื่อมั่นว่า ด้วยชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งแผนปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ชาติ การดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศ จะช่วยผลักดันไทยสามารถรับมือแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกได้อย่างดี ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังจะติดตามและวิเคราะห์ผลแต่ละมาตรการอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง