ที่กระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานโฮปเวลล์ว่า ที่ประชุมได้หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร(โฮปเวลล์) โดยเน้นย้ำให้คณะทำงานพิจารณาแก้ปัญหาโฮปเวลล์ของกระทรวงคมนาคม ที่มีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ไปเร่งเจราจรกับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็วที่สุด
ขณะเดียวกันยังได้แต่งตั้งทนายความในส่วนของกระทรวงคมนาคมเพิ่มอีก 2 คน ได้แก่ นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย และนายชนินทร์ แก่นหิรัญ รองเลขาธิการฝ่ายกฏหมาย สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อให้ช่วยพิจารณาดำเนินการในส่วนของกระทรวงคมนาคมให้เกิดความรัดกุมและรอบคอบที่สุด เนื่องจากทั้ง 2 คนเป็นผู้มีประสบการณ์และมีความรู้ความสามารถด้านกฎหมายโดยตรง
ด้านนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าว่า ตนจะไปยื่นหนังสือ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง สำนักงานประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้ตรวจสอบรายละเอียดในสัญญาร่วมทุนโครงการ โฮปเวลล์ ทั้งที่มาของสัญญา การอนุญาตร่วมทุนโครงการ และรายละเอียดของการบอกเลิกสัญญา โดยจะแจ้งให้ทราบว่าขณะนี้กระทรวงคมนาคมดำเนินการอยู่ในขั้นตอนไหน และมีข้อสงสัยอะไรที่เป็นความผิดปกติ เนื่องจากกระทรวงคมนาคมไม่ใช่เจ้าของโครงการ แต่เจ้าของโครงการดังกล่าวคือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้นถ้าหากมีการบังคับคดี กระทรวงการคลังก็จะต้องรับทราบว่าควรต้องทำอะไรบ้างในนามของภาครัฐ
นายนิติธร กล่าวต่อว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบข้อมูลเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับโครงการพบว่า มีความผิดปกติในสัญญา เนื่องจาก ครม.มีมติให้บริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิงส์ (ฮ่องกง) เป็นผู้ลงนามร่วมทุน แต่เมื่อมีการลงนามจริงเป็นบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) รวมทั้ง ครม.มีมติให้กระทรวงคมนาคมเป็นตัวแทนรัฐบาลในการลงนามสัญญา ไม่ใช่ รฟท. จึงถือเป็นการลงนามผิดฝาผิดตัว ทำให้สัญญาที่เกิดขึ้นเป็นหลักฐานได้ว่า หลายกระบวนการไม่น่าถูกต้องด้วยกฎหมาย ซึ่งสามารถนำไปสู่การฟ้องร้องได้ และจะส่งผลให้การลงนามสัญญาที่ผ่านมาเป็นโมฆะ
ส่วนจะมีการฟ้องศาลปกครองหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงานที่จะดำเนินการในฐานะรัฐบาล แต่หากไม่มีการดำเนินการอะไรก็อาจเข้าข่ายผิดตามมาตรา 157 เรื่องการเอาผิดเจ้าพนักงานที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวเห็นว่าถ้าพบข้อเท็จจริงว่าเป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตนจะไม่จ่ายค่าเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะทุกอย่างมีข้อมูลและหลักฐานเอกสารครบถ้วน ทั้งนี้การตรวจสอบดังกล่าวต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับการเจราจรของคณะทำงานฯ ส่วนจะมีการยื่นฟ้องต่อศาลเพิ่มหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาและข้อตกลง หากผลการเจรจาไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมก็อาจยื่นฟ้องศาลปกครองได้ เนื่องจากเป็นสัญญาสัมปทาน