หน้าแรก news “ครูพี่โอ๊ะ-กนกวรรณ” ลุยพื้นที่เมืองคอน ชงแก้ปัญหาจัดการศึกษา กศน.

“ครูพี่โอ๊ะ-กนกวรรณ” ลุยพื้นที่เมืองคอน ชงแก้ปัญหาจัดการศึกษา กศน.

0
“ครูพี่โอ๊ะ-กนกวรรณ” ลุยพื้นที่เมืองคอน ชงแก้ปัญหาจัดการศึกษา กศน.
Sharing

ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานและมอบนโยบายการศึกษาในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แก่สำนักงาน กศน.จังหวัดกลุ่มอ่าวไทย (นครศรีธรรมราช, สงขลา, พัทลุง, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี) พร้อมด้วย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.พะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.ดิศกุล  เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน. ดร.อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการ กช. และคณะ โดยมี นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริหาร ครู  นักเรียน และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 62 ที่ผ่านมา

ดร.กนกวรรณ  กล่าวว่า “ การลงพื้นที่ในครั้งนี้ นับว่าเป็นโอกาสดี ทำให้ได้รับฟังข้อคิดเห็นและสภาพปัญหาจากตัวแทนพี่น้องชาว กศนในกลุ่มอ่าวไทย ของภาคใต้ทั้ง 5 จังหวัด ที่ชัดเจนในหลายๆมิติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ค้างคามานานหลายปีที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น เรื่องการขาดอัตรากำลังบรรจุครู กศน.ของภาคใต้ประมาณ 300-400 อัตรา และเรื่องการขอใช้อาคารสถานศึกษาเดิมของสพฐ. เพื่อใช้เป็นที่ทำการจัดการศึกษาของ กศน. ในพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเรื่องนี้จะนำไปพิจารณาหารือกับ สพฐ. ต่อไป เป็นต้น ส่วนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายนั้น ขอให้พี่น้อง กศน.ทุกท่านร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาการศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการขับเคลื่อนนโยบาย กศน.เข้าสู่ยุคดิจิทัล หรือ กศน.wow ให้ประสบความสำเร็จทั้ง 6 ด้าน และขอยืนยันว่าพร้อมจะแก้ทุกปัญหาอย่างสุดความสามารถ ทุกข์ก็เห็นหน้า สุขก็เห็นหน้า พร้อมที่จะทลายทุกข้อจำกัดทางการศึกษาโดยไม่ทิ้งคน กศน.และจะตั้งใจทำงานเพื่อชาว กศน. ให้มีความสุขเท่าที่จะมากได้” รมช.ศธ.กล่าว

 

ด้านนางเกษร  ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า   การดำเนินกิจกรรมสำนักงาน กศน.จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ดำเนินการโดยใช้กระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ในการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน…บนความความพอเพียง จนเกิดครัวเรือนต้นแบบการจัดกิจกรรมที่หลากหลายในพื้นที่ เช่น  ชุมชนต้นแบบทางด้านการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  กิจกรรมบ้านหนังสือชุมชน กิจกรรมการสร้างสุขภาวะในชุมชน กิจกรรมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เน้นการดำรงชีวิตตามวิถีอินทรีย์ เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น  จากนั้นจะมีการถอดบทเรียนเพื่อความยั่งยืนและต่อยอดงานบนพื้นฐานการพัฒนางาน “กิจกรรมสร้างเครือข่าย   เครือข่ายสร้างกิจกรรม”  โดยกิจกรรมสร้างเครือข่ายได้วางรูปแบบการจัดกิจกรรมและประสานงานร่วมกันสนับสนุนทางด้านงบประมาณ  สื่อ/วัสดุ วิทยากร ภูมิปัญญา/ปราชญ์ชาวบ้าน แหล่งเรียนรู้  ส่วนเครือข่ายสร้างกิจกรรม ขับเคลื่อนโดยกำหนดรูปแบบการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ผ่านกระบวนร่วมคิด  ร่วมทำ ร่วมนำ  ร่วมประสาน เพื่อให้เกิดกิจกรรมและองค์ความรู้ที่หลากหลาย เช่น กรณีตัวอย่าง ของการจัดกิจกรรมการบริหารการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในชุมชนบ้านท่าจันทน์  หมู่ที่ 4 ตำบลท้องเนียน  อำเภอขนอม ที่ได้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมจนส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่บ้านท่าจันทน์  มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิต  เน้นการลดรายจ่ายในครัวเรือนและการผลิต  ตลอดจนสร้างรายได้จากการประกอบอาชีพที่หลากหลาย  ซึ่งจากการที่ กศน.ได้เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมาตลอด 3  ปี  ทำให้ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมาก  ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการพัฒนา ตามแนวคิด “สร้างความยั่งยืน  บนพื้นฐานทรัพยากรในชุมชน” ซึ่งมีครัวเรือนต้นแบบ เข้าร่วม  จำนวน  30 ครัวเรือน ในรูปแบบการเกษตรเชิงซ้อน สามารถทำรายได้เพิ่มในครัวเรือนละไม่ต่ำกว่า  6,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ในเชิงเศรษฐกิจและทางสังคม ทำให้ครัวเรือนในครอบครัวเกิดความอบอุ่น มีสุขภาพจิตดีขึ้น มีความเครียดทางเศรษฐกิจน้อยลง นับเป็นผลที่ดีเกิดขึ้นกับชุมชนและสังคมมากเกินประมาณค่า  กศน.อำเภอขนอมจึงได้คัดเลือกชุมชนบ้านท่าจันทน์ เป็นชุมชนต้นแบบแห่งการเรียนเรียนรู้  “พอเพียงก็เพียงพอ”  และได้รับการยอมรับจากเครือข่ายภายนอกเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ทางชุมชนได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนามาโดยตลอด จนเกิดเป็นต้นแบบของความเข้มแข็งในชุมชนอย่างยั่งยืน

จากนั้น รมช.ศธ. และคณะ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมบ้านหนังสือชุมชนควนชะลิก (ได้รับรางวัลบ้านหนังสือชุมชนยอดเยี่ยม และนักจัดกิจกรรมสร้างเสริมการอ่าน ระดับประเทศ ปี 2560) ณ สำนักงาน กศน.อำเภอหัวไทร และตรวจเยี่ยมภาคีเครือข่ายของ กศน.อำเภอปากพนัง ณ ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามลำดับ


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่