หน้าแรก news ไทย-เกาหลีใต้ร่วมเดินหน้าความสัมพันธ์สู่มิติใหม่ ๆ พร้อมช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือ นวัตกรรมและดิจิทัล

ไทย-เกาหลีใต้ร่วมเดินหน้าความสัมพันธ์สู่มิติใหม่ ๆ พร้อมช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือ นวัตกรรมและดิจิทัล

0
ไทย-เกาหลีใต้ร่วมเดินหน้าความสัมพันธ์สู่มิติใหม่ ๆ พร้อมช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือ นวัตกรรมและดิจิทัล
Sharing

วันนี้ (25 พฤศจิกายน 2562) เวลา 09.40 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครปูซาน) ณ โรงแรมเดอะ เวสติน โชซอน ปูซาน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หารือทวิภาคีกับนายมุน แช-อิน (Mr. Moon Jae-in) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 และการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 24 – 27 พฤศจิกายน 2562 ณ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปดังนี้

การพบหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ครั้งนี้มีความใกล้ชิดและอบอุ่น ซึ่งผู้นำทั้งสองได้มีโอกาสพบปะกันหลายครั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมา และประธานาธิบดีเกาหลีใต้ได้แสดงความเป็นมิตรที่แนบแน่นและจริงใจต่อนายกรัฐมนตรีตลอดเวลาที่พบกัน โดยในการพบกันครั้งนี้ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้กล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรี พร้อมแสดงความขอบคุณสำหรับการต้อนรับในโอกาสเยือนไทย 2 ครั้งที่อบอุ่นและประทับใจอย่างยิ่ง สะท้อนถึงมิตรภาพที่ถาวรระหว่างสองประเทศ ที่ผูกพันธ์ด้วยเลือดเนื้อที่ไม่มีวันเจือจาง และจะเดินหน้าสู่มิติใหม่ๆต่อไป ทั้งนี้ ผู้นำเกาหลีใต้ยังได้กล่าวชื่นชมบทบาทนายกรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ จนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีพลวัต

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณเกาหลีใต้ที่ได้สนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ ซึ่งเกาหลีใต้มีบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน รวมไปถึงความร่วมมือด้านต่าง ๆ ทั้งในกรอบอาเซียน และกรอบอนุภูมิภาค ไทยสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของเกาหลีใต้ในภูมิภาค และชื่นชมการขับเคลื่อนนโยบาย New Southern Policy (NSP) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สะท้อนความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงของเกาหลีใต้ในการที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์กับอาเซียนในรอบด้านให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โอกาสนี้นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวชื่นชมบทบาทของเกาหลีใต้ในการขับเคลื่อนกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง พร้อมและยินดีที่มีการยกระดับการประชุมเป็นระดับผู้นำเป็นครั้งแรกในปีนี้

ประธานาธิบดีเกาหลีใต้สนับสนุนนโยบายและพร้อมขยายความร่วมมือกับไทย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาทุนมนุษย์ และพัฒนาเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย NSP ของเกาหลีใต้ ถือว่าเป็นนโยบายที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของอาเซียน และไทย

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกระชับความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคี พหุภาคีอย่างรอบด้าน อาทิ ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) การพัฒนาการศึกษา และการพัฒนาความเชื่อมโยงภาคประชาชน โดยเกาหลีใต้ยินดีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และนวัตกรรมในด้านที่มีความเชี่ยวชาญกับไทย โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาและต่อยอดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนนักลงทุนจากเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในกลุ่มอุตสาหกรรม 4.0 และ 4IR ซึ่งเกาหลีใต้มีศักยภาพและมีความสนใจ อาทิ ยานยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล และหุ่นยนต์ รวมทั้ง ความร่วมมือด้านการเกษตร BCG ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร ให้นำมาเกิดประโยชน์ใหม่

ประธานาธิบดีฯ ได้แสดงความสนใจที่จะเพิ่มพูนขับเคลื่อนความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งที่มีการลงนาม MOU กันไปแล้ว และกำลังที่จะมีการลงนาม ให้เกิดผลรูปธรรม รวมทั้ง ยังแสดงความสนใจสนับสนุนภาคเอกชนเกาหลีเพื่อการลงทุนในประเทศไทย เข่น ด้าน การเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคม การลงทุนใน EEC การบริหารจัดการน้ำ และด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยขอให้รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมและสนับสนุนด้วย

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ นายมุน แช-อิน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่
1. บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือสาขาวิทยาศาสตร์ฯ ผ่านการวิจัยและพัฒนาการดำเนินโครงการร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ไทยในการได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ของเกาหลีใต้
2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลีกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อเป็นโอกาสในการสนับสนุนการพัฒนาภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ ส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจพื้นที่ EEC และส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
3. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ กำหนดให้มีการประชุมระหว่างผู้ปฏิบัติของทั้งสองหน่วยงานอย่างสม่ำเสมอ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย

 


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่