“มนัญญา” ชี้ ม็อบเสื้อดำกดดันไม่มีผลอะไร ย้ำทุกอย่างต้องดำเนินไปตามกฎหมาย ขอรอฟังมติ คกก.วัตถุอันตรายพรุ่งนี้ ก่อนชัดเจนจะเดินหน้าต่ออย่างไร ลั่น หากลบล้างมติเดิมต้องมีเหตุผลหนักแน่น
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงข้อสรุปเรื่องการแบน 3 สารพิษที่ล่าสุดมีกลุ่มเกษตรกรออกมาคัดค้านว่า ขอให้รอมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันพรุ่งนี้ก่อนแล้วจะดำเนินการอย่างไรก็เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่มีม็อบคัดค้านการแบนสารพิษ มากดดันแบบนี้จะมีผลต่อการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันพรุ่งนี้หรือไม่ นางสาวมนัญญา กล่าวว่า “สำหรับดิฉันเองไม่มีผล เพราะทุกอย่างต้องดำเนินการไปตามกฎหมายและตามมติของคณะกรรมการที่มีออกมาก่อนหน้านี้ ซึ่งอยู่ที่คณะกรรมการฯจะเดินหน้าไปแบบไหนมากกว่า และเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ก็ต้องให้หลายฝ่ายเป็นผู้ตัดสินดู ตอนนี้เรายื่นสุดมือแล้ว จากนี้ก็ขอให้เป็นเรื่องของทางคณะกรรมการฯที่จะตัดสินว่าจะออกมาเป็นแบบไหน”
เมื่อถามว่าได้คุยกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯในเรื่องนี้บ้างหรือไม่ เพราะไม่เห็นด้วยกับการแบน 3 สารพิษนี้เหมือนกัน นางสาวมนัญญา กล่าวว่า วันนี้ก็เจอ แต่ไม่เห็นพูดอะไร
เมื่อถามว่ามีแนวโน้มที่จะทำตามที่กลุ่มม็อบออกมาเรียกร้องหรือไม่ รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า หลังจากพรุ่งนี้แล้ว เราก็จะมาประชุมกันอีกครั้งว่าจะมีแนวทางออกมาแบบไหน แต่ความจริง การลด ละ เลิก ก็เป็นนโยบายของนายกฯอยู่แล้วที่ต้องการจะลด ละ เลิก การใช้สารเคมีในประเทศไทยให้น้อยลง ซึ่งเราก็ทำตามนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว ไม่ได้ทำอะไรแตกต่างเลย และเรื่องนี้ความจริงไม่ได้เกิดในสมัยนี้ แต่เกิดมานานแล้ว และเราก็มาสานต่อให้เป็นรูปธรรม
“หากจะมีการเปลี่ยนแปลงมติครั้งแรก ในครั้งที่สองมันก็ต้องมีความหนักแน่นว่ามีเหตุผลอะไรที่จะไปลบล้างคำสั่งหรือมติครั้งแรกได้”
ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้เลิกใช้สารเคมีเหล่านี้ แล้วมีสารอะไรที่จะมาทดแทนหรือยัง นางสาวมนัญญา กล่าวว่า หากพูดถึงสารเคมีในประเทศไทยมีมาอยู่แล้ว แต่ที่จะนำเข้ามาเพื่อมาทดแทน 3 สารเคมีเหล่านี้ไม่มีแน่นอน ซึ่งในส่วนของสหกรณ์อาจจะมีการปรับเปลี่ยนมาเป็นเครื่องจักรแทน
ผู้สื่อข่าวถามถึงการทำประชาพิจารณ์คนส่วนใหญ่ 70 กว่าเปอร์เซ็นที่ไม่อยากให้มีการแบน 3 สารพิษ นางสาวมนัญญา กล่าวว่า ประชาพิจารณ์นี้ ตนไม่ทราบว่าไปเอามาจากไหน มีคำสั่งมาหรือเปล่า ทุกอย่างก็ต้องมีลายลักษณ์อักษร
“เราไม่เห็นว่า ที่ให้มาทำนั้น กลับมาทำอะไร ไม่ได้บอกว่าให้มาทำประชาพิจารณ์หรือให้กลับมาทำอะไร ตรงนี้เราไม่เห็นจึงไม่สามารถตอบได้ คำว่าประชาพิจารณ์มันต้องดูว่าจริงๆ แล้วช่องทางที่เกษตรกรจะเข้าถึงจริงๆ อยู่ตรงไหน เพราะทุกคนจะต้องเข้าถึงได้ในทุกช่องทาง ไม่ใช่กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดและต้องประชาพิจารณ์ไปทุกจังหวัด เพราะเกษตรกรอยู่ทั่วประเทศไทย ต้องดูจากเปอร์เซ็นด้วยว่าได้หรือไม่”
เมื่อถามว่าส่วนตัวยอมรับกับมติของคณะกรรมการฯที่จะออกมาในวันพรุ่งนี้หรือไม่ นางสาวมนัญญา กล่าวว่า “ขอเก็บเป็นความลับไว้พรุ่งนี้ก็แล้วกัน แต่มีอยู่ในใจแล้วทุกอย่าง”
เมื่อถามว่าส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้น่าจะมีอะไรซ่อนเร้น ถึงได้มีการเสนอให้มีการยืดมติออกไปอีก 6 เดือน หรือให้มีการทบทวนมติใหม่ นางสาวมนัญญา กล่าวว่า มันอาจจะมีอะไรก็ได้ ซึ่งเราไม่สามารถจะรู้ได้ว่าจะมีอะไรต่อไป อย่างไรก็ตามคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรกับรัฐบาลโดยรวม
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอให้เลื่อนการแบนสารพิษออกไปอีก 6 เดือนว่า ต้องย้อนทบทวนว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีความพยายามจะแบนสารพิษมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ถึงขั้นควบคุมการใช้ มันเป็นสัญญาณแล้วว่าประเทศไทย กำลังจะแบนสารพิษ แต่กลับมีการนำเข้ามาสต็อกเพิ่ม ขอถามว่าใครผิด ใครถูก ที่ต้องพูดเพราะว่าการแบนสารพิษที่กำลังผลักดันนั้น ไม่ได้คิด และทำอย่างปุบปับ แต่เราทำตามมติเดิม
ส่วนที่กรมวิชาการเกษตร มีข้อเสนอออกมานั้น มันชัดเจนอยู่แล้วว่าทางกรมวิชาการเกษตร ไม่ได้เชื่อฟังรัฐมนตรีที่กำกับดูแลอย่างคุณมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ถ้าหน่วยงานไม่สนองนโยบายของผู้บังคับบัญชาที่สั่งอย่างถูกกฎหมาย และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ มันจะต้องจัดการอย่างไร นางสาวมนัญญา อาจจะต้องแสดงสปีริตบางอย่าง หรือคืนกรมวิชาการเกษตรไป แล้วนำกรมใหม่มาดูแล ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของนางสาวมนัญญา ในการตัดสินใจเรื่องนี้ ว่าจะเดินหน้าอย่างไร ซึ่งทุกอย่างจะชัดเจน หลังจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีการตัดสินใจอย่างหนึ่ง อย่างใดออกมา
เมื่อถามว่าหากต้องชะลอการแบนออกไปตามข้อเสนอของกรมวิชาการเกษตร ทางกระทรวงสาธารณสุข และพรรคภูมิใจไทย จะเดินหน้าต่ออย่างไร นายอนุทิน ตอบว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรเสีย เราต้องยืนยันการแบน เพราะเป็นพันธกิจของกระทรวงในการดูแลสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ หากคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่แบน แต่ทำตามกฎหมาย เราจะไปทำอะไรได้ เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย หากคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะเลื่อน หรือจะยกเลิกแบน และเขาทำตามอำนาจหน้าที่ของเขาอย่างถูกกฎหมาย เราก็ได้แต่บอกว่าไม่เห็นด้วย เพราะที่สุดแล้ว การตัดสินใจเรื่องสารพิษข้างต้น เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย