หน้าแรก news “วีรศักดิ์” นำกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผนึกกำลัง ซีพี ออลล์ – ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง ดันสินค้า GI ไทยสู่ตลาดออนไลน์ พร้อมวางแนวทางเตรียมรุกตลาดจีนในอนาคต

“วีรศักดิ์” นำกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผนึกกำลัง ซีพี ออลล์ – ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง ดันสินค้า GI ไทยสู่ตลาดออนไลน์ พร้อมวางแนวทางเตรียมรุกตลาดจีนในอนาคต

0
“วีรศักดิ์” นำกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผนึกกำลัง ซีพี ออลล์ – ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง ดันสินค้า GI ไทยสู่ตลาดออนไลน์ พร้อมวางแนวทางเตรียมรุกตลาดจีนในอนาคต
Sharing

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา จับมือกับบริษัท ทเวนตี้โฟร์ช้อปปิ้ง จำกัด ช้อปปิ้ง ออนไลน์ ในเครือบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขยายช่องทางการตลาดสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (GI) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์ โดยมีนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธี พร้อมเปิดตัว 6 สินค้า GI นำร่อง ที่เปิดให้สั่งซื้อได้ทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ ShopAt24 และเลือกรับสินค้าที่เซเว่น อีเลฟเว่น สาขาใกล้บ้าน เผยอนาคตเตรียมวางแนวทางขยายตลาดสินค้า GI ไทยไปสู่ประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีน

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “การส่งเสริมสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) ในเชิงพาณิชย์ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลมุ่งผลักดันเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยกระทรวงพาณิชย์ได้มอบนโยบายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการคุ้มครองและขึ้นทะเบียน GI ให้ส่งเสริมการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยขยายช่องทางการตลาดเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่สินค้า GI ไทยเพิ่มยิ่งขึ้น และขยายความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งบริษัท ห้างร้าน ผู้ประกอบการ และหน่วยงานท้องถิ่น”

นายวีรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ความร่วมมือกับบริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าว              ที่สำคัญในการขยายช่องทางการตลาดให้กับสินค้า GI ไทย โดยนำสินค้า GI มาขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีศักยภาพ ผ่านทางเว็บไซต์ในเครือซีพี ออลล์ www.shopat24.com ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นและผู้บริโภคเองก็สามารถเลือกซื้อสินค้า GI โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงแหล่งผลิตได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการสั่งซื้อแบบ Pre-order และสามารถเลือกรับสินค้าได้ที่เซเว่น อีเลฟเว่นสาขาใกล้บ้าน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า GI อันเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน”

ด้านนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “ขณะนี้มีสินค้า GI ไทยที่เปิดให้สั่งซื้อผ่านทางเว็บไซต์ ShopAt24 แล้ว 6 รายการ คือ ศิลาดลเชียงใหม่ ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน  กาแฟดอยตุง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง และผ้าครามธรรมชาติสกลนคร ทั้งนี้

กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเฟ้นหาสินค้า GI อื่นๆ ที่มีศักยภาพหรือมีผลผลิตตามฤดูกาลเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากสินค้า GI รายการใดได้รับการตอบรับดีจากการซื้อขายผ่านช่องทางดังกล่าว จะมีการวางแผนขยายตลาดไปสู่จีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีกำลังซื้อสูงในอนาคตต่อไป”

นายทศพล กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันมีสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 133 รายการ แบ่งเป็น GI ไทย 116 รายการ และ GI ของต่างประเทศ 17 รายการ ซึ่งกิจกรรมในวันนี้จะช่วยผลักดันให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการสินค้า GI ของไทย รวมทั้งภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการได้รับความคุ้มครองควบคู่ไปกับการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน อันจะนำไปสู่การเติบโตของสินค้า GI อย่างมีคุณภาพและยืนหยัดแข่งขันได้ในตลาดและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคอย่างยั่งยืนต่อไป”

ด้านนายอำพา ยงพิศาลภพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง จำกัด บริษัทในกลุ่มซีพี ออลล์ กล่าวว่า “บริษัทมีนโยบายร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าเอสเอ็มอีและสินค้าที่มีนวัตกรรม จากผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กหรือเอสเอ็มอีที่ผลิตสินค้าคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่นิยมจากประชาชน โดยบริษัททำหน้าที่เป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการเหล่านี้ เพื่อส่งตรงถึงมือผู้บริโภคทั่วประเทศผ่านช่องทางที่หลากหลายของทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง”

“ความร่วมมือระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาและทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง ในครั้งนี้ นับว่าเป็นมิติใหม่ของการนำสินค้า GI ซึ่งเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่มีอัตลักษณ์ของจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย จึงเป็นเหมือนแบรนด์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า โดยนำเข้ามาขายผ่านช่องทางออนไลน์ www.ShopAt24.com เป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยให้กระจายสินค้าท้องถิ่นไปถึงมือผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง ช่วยตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้เกษตรกรและกลุ่มชุมชน ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย” นายอำพากล่าว


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่