(28 พ.ย.62) ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช เลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการประชุมวันที่ (27 พ.ย.2562) ที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย อันมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานและคณะกรรมการร่วมประชุม 24 คนจาก 29 คนได้มีมติเป็นเอกฉันท์ 24 ต่อ 0 เลื่อนการแบน 2 สารเคมีประกอบด้วย พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ออกไปอีก 6 เดือนจากเดิมมีผลบังคับใช้ 1 ธ.ค.2562 เป็น 1 มิ.ย. 2563 แถมยังมีมีมติจำกัดการใช้สารไกลโฟเซต และได้มีการมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หาสารเพื่อทดแทนนั้น ถือเป็นการ หนีเสือปะจระเข้ เพราะหากเรายกเลิก 3 สารพิษดังกล่าว และมีสารเคมีตัวใหม่มาทดแทน ควรจะต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนคนไทยหรือไม่
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า เหตุใด นายสุริยะฯ และคณะกรรมวัตถุอันตราย จึงตัดสินใจแบบนี้ และขอตั้งข้อสังเกตอีกว่า มีคนอยู่เบื้องหลังหรือไม่อย่างไร ขนาด น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.ที่กำกับดูแล กรมวิชาการเกษตร ยังไม่ได้รับเอกสารให้ตรวจก่อนที่นำเข้าในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเอกสารดังกล่าว ลงนามโดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ และจากการที่สภาผู้แทนราษฎร มีฉันทามติสนับสนุนการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด 423 ต่อ 0 ด้วยเล็งเห็นถึงความเร่งด่วนของการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนคนไทย เพราะสุขภาพของประชาชนคนไทย นั้น ต้องสำคัญกว่า ซึ่งหากรัฐบาลเล็งเห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ก็ควรรีบเรียกประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายใหม่ เพื่อลงมติใหม่อีกครั้ง ซึ่งหากแบนสารดังกล่าวก็จะมีกระบวนการการส่งคืนสินค้ากลับประเทศต้นทาง ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ : MOU เรื่องมาตรการสุขอนามัยและอนามัยพืช ( AGREEMENT ON THE APPLICATION OF SANITARY AND PHYTOSANITARY MEASURES ) ขององค์กรการค้าโลกนั้น ซึ่งรัฐบาลไทยสามารถดำเนินการแบนสารพิษได้ภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ตามเงื่อนไขการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนอย่างเร่งด่วน (Urgent Problems) ซึ่งระบุในความตกลงดังกล่าวใน Annex B ข้อ 6 สต๊อกสารเคมี 3 ชนิดที่ยังเหลือ 40 ล้านกิโลกรัมให้ส่งกลับคืนประเทศต้นทางตามหลักการปฎิบัติกว่า 50 ประเทศที่ยกเลิก 3 สารนี้ล้วนดำเนินการมาแล้ว