นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมขอยืนยันว่ามติการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ที่มีตนเป็นประธานเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ถือเป็นมติที่ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย และไม่ได้เข้าใจผิดตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุขได้กล่าวอ้าง เนื่องจากได้ตรวจสอบจากฝ่ายกฏหมายที่เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวแล้ว ว่าที่ประชุมฯได้ปฎิบัติตามระเบียบและขั้นตอนตามกฎหมายทุกอย่าง
“การประชุมมีมติและถูกต้องอย่างแน่นอน และไม่ได้เข้าใจผิดอย่างที่มีการกล่าวถึง เพราะได้ตรวจสอบจากฝ่ายกฏหมายที่เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวแล้ว ว่าที่ประชุมฯได้ปฎิบัติตามระเบียบและขั้นตอนตามกฎหมายทุกอย่างแล้ว อย่างไรก็ตามผมขอยืนยันอีกครั้งว่ามติดังกล่าวถูกต้อง”
สำหรับมติ คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ที่มีตนเป็นประธานเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้กำหนดวัตถุอันตรายพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้กำหนดระยะเวลาบังคับใช้ เลื่อนจาก 1 ธ.ค.62 เป็น 1 มิ.ย. 63 ส่วนวัตถุอันตรายไกลโฟเซต ให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พ.ค.61พร้อมทั้งมอบหมายให้ กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำมาตรการรองรับในการหาสารทดแทน หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสม รวมถึงลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไป และให้นำเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณาภายใน 4 เดือน นับจากวันที่มีมติ
โดยก่อนหน้านี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ย้ำว่าได้คุยกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม แล้ว ซึ่งนายสุริยะเข้าใจว่า การที่พูดออกไปโดยไม่มีใครโต้แย้ง สามารถเป็นมติได้ และอาจไม่สามารถใช้ได้ในยุคสมัยนี้ ซึ่งได้เสนอไปยังนายสุริยะแล้วว่าเพื่อความชัดเจน ต้องเปิดให้มีการโหวต ย้ำว่าประเด็นที่เกิดขึ้นเป็นความเข้าใจผิด แต่เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาต้องโหวตให้ชัดเจน
ล่าสุด รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง กล่าวถึงมติที่ประชุมดังกล่าวว่า เท่าที่ติดตามตนขอสันนิษฐานว่า คนที่เป็นประธานในที่ประชุมชอบโมเม เมื่อเห็นว่าไม่มีคนคัดค้านเลยอ้างว่ามติเป็นเอกฉันท์ เหมือนยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นประธาน ต่อให้ในประประชุมมีการอภิปรายเห็นแย้ง แต่จอมพลสฤษดิ์ มักสรุปเอาในแนวทางของตัวเอง ซึ่งก็ไม่มีใครกล้าหือ นี่คือเรื่องสมัยก่อน แต่กรณีสารเคมีเกษตร เป็นเรื่องเป็นเรื่องตาย เกี่ยวกับชีวิตและสุขภาพ ควรมีการโหวตให้เห็นมติที่ชัดเจนว่ามีคนเห็นด้วยหรือมีคนคัดค้านเพียงใด เนื่องจาก คกก.ที่ลงมติต้องรับผิดชอบ
“เรื่องนี้เป็นเรื่องเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนกฎเกณฑ์ของชาติ จะให้ประธานมาโมเมไม่ได้ แล้วสิ่งที่น่าคิดคือวันที่ 27 พ.ย.มีการลงมติเอกฉันท์หรือเปล่า เพราะถ้าเอกฉันท์จะมีคนลาออกทำไม ฉะนั้น รายงานการประชุมต้องชัด” รศ.สุขุมกล่าว