นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ก “อนุทิน ชาญวีรกูล” แจ้งความคืบหน้านโยบายกัญชาทางการแพทย์ ระบุว่า ขอรายงานการปฏิบัติงาน นโยบายกัญชาทางการแพทย์ กันอีกครั้ง
ยาวสักนิด แต่ยาวแบบมีสาระ ครับ
หลายคนถามแล้วถามอีก ว่า จะได้ปลูกจริงหรือไม่
6 ต้น เมื่อไร จะได้ปลูก
มากกว่า 6 ต้น จะปลูกได้ไหม ปลูกได้เมื่อไร
ขอรายงานให้ทราบว่า ผมได้ลงนามในร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตผลิตกัญชาทางการแพทย์ เสนอไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา แล้ว
หากว่าไม่มีอะไรติดขัด ภายใน 2-3 เดือนนับจากนี้ไป น่าจะมีกฎกระทรวง ออกมา เป็นแนวทางให้ผู้ที่สนใจจะปลูกกัญชาทางการแพทย์ ปฏิบัติได้
สาระสำคัญ 2 ประการ ที่ผมให้บรรจุไว้ในร่างกฎกระทรวง ฉบับนี้ ก็คือ
1. แพทย์แผนไทย และ หมอพื้นบ้าน สามารถขออนุญาตปลูกกัญชา เพื่อปรุงยา รักษาผู้ป่วย ได้
(ในร่างกฎกกระทรวงฉบับเดิม อนุญาตให้ปรุงยาเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ปลูก)
2. ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกร สามารถปลูกกัญชา ได้
(ร่างกฎกระทรวงเดิม ไม่อนุญาตให้เกษตรกรปลูก แต่ร่างฉบับใหม่ ให้สิทธิเกษตรกร เป็นรายบุคคล ปลูก โดยไม่ต้องจับกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนก็ได้)
ทั้ง 2 กลุ่มนี้ ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องปลูกกี่ต้น จะปลูก 6 ต้น หรือ มากกว่า 6 ต้น ก็ได้ ไม่มีข้อจำกัด ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และความเหมาะสมของแต่ละราย ที่ขออนุญาตปลูก
แต่เนื่องจาก กฎหมายแม่ คือ พรบ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 (ซึ่งประกาศใช้ก่อนที่ผมจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) กำหนดไว้ว่าภายใน 5 ปีแรก คือ ปี 2562-2566 ใครจะปลูกกัญชา ต้องปลูกร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เท่านั้น
ดังนั้น ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้นี้ เกษตรกร ที่อยากปลูกกัญชา ต้องจับคู่กับหน่วยงานของรัฐ ตามที่กฎหมายกำหนด ก่อน
เมื่อพ้นจาก 5 ปี ผู้ที่ได้รับอนุญาตแล้ว จะปลูกกับหน่วยงานของรัฐต่อไป หรือจะปลูกเอง ไม่จับคู่กับหน่วยงานของรัฐ ก็ได้
คงมีคำถามอีกว่า จะให้ปลูกแล้ว ทำไมยังต้องมีข้อกำหนดให้ยุ่งยาก
ต้องตอบว่ามันเป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ และผมคนเดียวไม่สามารถแก้ไขได้
หากจะแก้ ต้องไปแก้กันในสภาฯ ซึ่งใช้เวลานานพอสมควร และ ในสภาฯ พรรคภูมิใจไทย ได้เสนอร่างแก้ไขพรบ.ยาเสพติด ไว้แล้ว
เพื่อจะให้ประชาชน และเกษตรกร สามารถปลูกกัญชา เพื่อเป็นวัตถุดิบทางการแพทย์ ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
ผมจึงใช้อำนาจในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอร่างกฎกระทรวงให้สิทธิ แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน และ เกษตรกร สามารถปลูกกัญชาได้ ตามที่ได้รายงานแล้ว ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ประสงค์จะใช้กัญชาทางการแพทย์ นอกเหนือจากในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข
แม้จะมีข้อจำกัด และเงื่อนไขที่ทำให้ไม่สะดวกอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำได้เร็วที่สุด
ขอความกรุณาคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาสนับสนุน ร่างกฎกระทรวง ที่นำเสนอ ฉบับนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน และผู้ป่วย ที่รอคอย ด้วย
ท่านใดที่มีข้อแนะนำดีๆ ที่จะทำได้เร็วกว่านี้ บอกมาได้
หากนำไปศึกษาแล้ว สามารถทำได้ จะรีบทำทันที เพื่อให้การต่อยอดภูมิปัญญาไทย ที่จะนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รักษาผู้ป่วย บรรลุผล เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยเร็วที่สุด
จากนี้ไป หากมีความคืบหน้าเรื่องกัญชาทางการแพทย์ จะรีบมารายงานให้ทราบ ต่อไปครับ