นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแปรนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฏิบัติ โดยมี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ โฆษกประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายเจือ ราชสีห์ และนายตติรัฐ รัตนเศรษฐ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการประชุม ในวันที่ 9 ธันวาคม 2562 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม โดยที่ประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฏิบัติ ดังนี้
1. การพิจารณานโยบายปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ทุกประเภทบนถนนที่มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป จากความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ผลการทบทวนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดอัตราความเร็วบนทางหลวง ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 พบว่า กฎหมายดังกล่าวมีข้อกำหนดที่ทับซ้อนกัน โดยพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มีการบังคับใช้กฎหมายในเชิงพื้นที่ ในขณะที่พระราชบัญญัติทางหลวงฯ มีการบังคับใช้เชิงลักษณะชนิดของทาง
ที่ประชุมฯ จึงได้มีมติเห็นชอบให้ปรับแก้กฎกระทรวงในการกำหนดอัตราความเร็วสูงสุดของรถยนต์ตามพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ ให้สอดคล้องกัน โดยใช้ประเภทของถนนเป็นเกณฑ์ ตัวอย่างเช่น ถนนที่มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องจราจรขึ้นไป ซึ่งมีการแบ่งทิศทางการจราจรแยกออกจากกันและมีเกาะกลางหรือกำแพงกั้นเป็นความเร็วสูงสุดไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งนี้ ควรกำหนดอัตราความเร็วต่ำสุดที่อนุญาตให้ใช้ในช่องจราจรขวาสุด รวมทั้งกำหนดบทลงโทษผู้ขับขี่ที่ใช้ช่องจราจรขวาสุดที่ใช้ความเร็วต่ำกว่า 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็นต้น
ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกัน เพื่อแก้ไขการใช้กฎหมายความเร็วให้สอดคล้องกันทั้ง 2 ฉบับ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอหน่วยงานให้ความเห็นชอบต่อร่างกฎกระทรวงความเร็วก่อนเสนอ คจร. พิจารณา ทั้งนี้ การปรับความเร็วรถจะต้องพิจารณาประเภทของถนน และมาตรฐานความปลอดภัยด้วยการจัดระเบียบการใช้รถใช้ถนน ซึ่งกรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องสินบนนำจับ ซึ่งถนนเส้นทางใดมีความพร้อมจะสามารถดำเนินการได้ก่อน
2. การพิจารณานโยบายปรับเวลาการอนุญาตให้รถยนต์บรรทุกขนาดตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป เข้าเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ตั้งแต่เวลา 24.00 – 04.00 น.
ด้วยสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม เรื่อง ขอให้ทบทวนหรือชะลอนโยบายห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้ากรุงเทพฯ และปริมณฑลบางเวลา โดยเสนอว่า ปัญหาการจราจรของกรุงเทพฯ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยและรถบรรทุกเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากในแต่ละวันมีรถบรรทุกวิ่งเข้า – ออกพื้นที่กรุงเทพฯ เฉพาะช่วงเวลาเพียงวันละ 12 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้น การขยายระยะเวลาห้ามรถบรรทุกเข้าเมืองเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุแต่จะมีผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์และระบบเศรษฐกิจในวงกว้าง การขนส่งจะต้องเชื่อมต่อกันทุกระบบจะเกิดปัญหาลูกโซ่ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ผลกระทบต่อการพักผ่อนเวลากลางคืนของชาวกรุงเทพฯ โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้
– ทบทวนหรือชะลอนโยบายอนุญาตให้รถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อ วิ่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงเวลา 24.00 – 04.00 น.
– ควรมีการประชุมกับเอกชนผู้เกี่ยวข้องให้รอบด้านเพื่อความรอบคอบ
– ให้ สนข. ร่วมกับสถาบันการศึกษาทำการศึกษารายละเอียดผลกระทบด้านโลจิสติกส์ให้รอบคอบ
– เลื่อนเวลาทำงานและเลิกงานของราชการและรัฐวิสาหกิจให้เลื่อมกัน เพื่อกระจายปริมาณรถยนต์และลดความแออัดบนถนน
– ย้ายโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรมออกนอกพื้นที่เมือง
– ยกเลิกการใช้ประโยชน์ท่าเรือกรุงเทพ และผลักดันการพัฒนาท่าเรือบก (DRY PORT)
– สร้างจุดพักรถบรรทุก สถานีขนส่งสินค้ารถบรรทุก เพื่อพักสินค้าและเปลี่ยนถ่ายสินค้ารถใหญ่ไปใช้รถเล็ก
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับข้อเรียกร้องดังกล่าวไปพิจารณา โดยกำหนดแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ให้ชัดเจนภายใน 1 เดือน ซึ่งมาตรการทั้งหมดต้องตอบโจทย์เรื่องการจราจร ต้นทุนการก่อสร้าง และให้พิจารณาข้อกฎหมายของ กทม. ประกอบด้วย โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนเป็นหลัก และผลกระทบต่อภาคเอกชนโดยให้พิจารณากำหนดมาตรการเยียวยาต่อไป