นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ว่า การนำเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการฯชุดนี้มาหารือในสภา ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการเริ่มต้นกระบวนการที่จะแก้ปัญหาประเทศอย่างจริงจังและทุกพรรคการเมืองเห็นพ้องต้องกันในการที่จะตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาฯครั้งนี้
แม้แต่พรรคพลังประชารัฐที่ได้เปรียบจากรัฐธรรมนูญ ยังมีการส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ดังนั้นหลังจากนี้ก็เป็นเรื่องของการนำเสนอถึงหลักการและเหตุผลในการเสนอแก้ ส่วนที่พรรคพลังประชารัฐกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2560 มีเนื้อหารัฐธรรมนูญใกล้เคียงรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นการยกตัวอย่างที่ไม่มีเหตุผลรองรับและไม่มีความใกล้เคียงกันเลย เนื้อหาต่างกันมากระหว่างปี 40 กับปี 60 ดังนั้นการนำเสนอของพรรคพลังประชารัฐจึงมีนัยยะแอบแฝง
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวด้วยว่า แนวทางในการแก้ไขนั้นเชื่อว่าทางพรรคพลังประชารัฐจะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา โดยไม่แก้มาตรา 256 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมไปถึงวิธีการทั้งหมด หากมีการแก้ไขมาตรานี้ก็จะเปิดโอกาสให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาได้ ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐจะไม่ยอมให้มีการแก้ไขมาตรานี้อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ในส่วนของคณะกรรมาธิการ หากรัฐบาลมีความจริงใจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรที่จะส่งคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมในคณะกรรมาธิการฯไม่ใช่ส่ง 18 มงกุฎตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความคิดเห็นไว้ รวมทั้งคนที่จะเข้ามาเป็นประธานกรรมาธิการฯต้องเป็นคนทีได้รับความเชื่อ มีความตั้งใจ รวมทั้งมีความเป็นกลาง หากเป็นตามกระแสข่าวที่ว่า รัฐบาลจะเสนอนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐมานั่งในตำแหน่ง รัฐจะทำลายความน่าเชื่อถือของกรรมาธิการชุดนี้ลงอย่างแน่นอน
“หวั่นใจว่าในระหว่างมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกรงว่าแผนครองอำนาจ 10 ปีที่จะสิ้นสุดหรือมีปัญหาทำให้ต้องหลุดจากอำนาจไป อาจมีการยุบสภาเพื่อยุติการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ เพราะเมื่อผู้มีอำนาจอยากอยู่ในอำนาจไปอีกยาว ดังนั้นหากคิดจะทำอะไรเห็นหัวประชาชนบ้าง”นายแพทย์ชลน่านกล่าว