รองโฆษกแถลงรัฐบาลรับ 11 ข้อเสนอช่วยเหลือกลุ่มชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการแก้ไขปัญหาไอยูยู ส่วนที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้เพราะติดขัดข้อกฎหมายจะตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจหาทางออก นัดถกครั้งแรก ม.ค. 63 เผยแม้ปลดใบเหลืองยังชะล่าใจไม่ได้ อียูจ้องตลอด แจ้งข่าวดีหากเจรจาเอฟทีเอกับอังกฤษสำเร็จ ไทยจะส่งออกสินค้าเกษตรประมงภาษีเป็นศูนย์
วันนี้ (19 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลกรณีการแก้ไขปัญหาให้กลุ่มชาวประมง 22 จังหวัดชายแดนทะเล ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการประมงอย่างเข้มงวด ภายหลังประเทศไทยถูกปลดจากใบเหลืองการทำประมงผิดกฎหมาย(IUU) แม้เป็นเรื่องน่ายินดี แต่การทำงานงานอย่างเข้มงวดตามมาตรฐานสหภาพยุโรป (EU) กำหนด ทำให้ชาวประมงเดือดร้อน และเดินทางมาร้องขอความเป็นธรรม พร้อมขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยได้รวมตัวกันบริเวณหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ขณะนี้สถานการณ์ได้คลี่คลายและตัวแทนพี่น้องชาวประมงที่มาร้องทุกข์ได้เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพแล้ว ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ ได้รับข้อเสนอ 11 ข้อและจะนำเข้าสู่คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เป็นประธาน และใช้เวลาหารือร่วม 3 ชั่วโมงจนได้ข้อสรุปและเห็นชอบข้อเสนอทั้งหมด รวมถึงให้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการใช้มาตรการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย
น.ส.รัชดากล่าวว่า สำหรับข้อเสนอ 11 ข้อ ประกอบด้วย 1.ชาวประมงขอให้ทบทวนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย กฎระเบียบที่กระทบและสร้างความเดือดร้อนกับวิถีการทำประมง โดยคณะกรรมการฯ เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปรวบรวมกฎระเบียบต่างๆ ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา นำมาทบทวนร่วมกับพี่น้องประมงเพื่อนำมาสู่การปรับปรุงแก้ไขต่อไป คาดแล้วเสร็จภายใน 30 วัน 2. การเสนอแก้ไขกฎหมายพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ประมง พ.ศ. 2558 โดยให้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายโดยด่วน ตั้งเป้าให้ได้ข้อสรุปภายใน 45 วัน
3. กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน เช่น ไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ฝึกงานบนเรือประมง เพราะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งชาวประมงขอให้ผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปสามารถฝึกงานบนเรือประมงได้ รวมถึงพิจารณาชั่วโมงพัก เวลาออกเรือ ตลอดจนกฎระเบียบที่ซ้ำซ้อน โดยคณะกรรมการฯ เห็นชอบตั้งคณะทำงานขึ้น 4.การเงินที่มีปัญหาของเรือขาวคาดแดงที่ต้องนำออกจากระบบการประมง ไม่สามารถทำการประมงได้อีก ซึ่งมีเรือผิดกฎหมายที่จะต้องนำออกจากระบบ รวม 3,000 ลำ รัฐบาลได้ตั้งเป้าให้เงินช่วยเหลือโดยแบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกจะเริ่มจัดสรรเงินเยียวยาภายหลังงบประมาณปี 2563 ผ่าน และเฟสต่อไปจะทยอยจ่ายเงินเยียวยาจนครบ ส่วนงบที่ต้องเยียวยาทั้งเรือผิดกฎหมายและบางส่วนที่ไม่อยากทำอาชีพประมง ราว 8,000 ล้านบาท
5. โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ชาวประทง โดยที่ประชุมเห็นชอบจัดเงินก้อนหนึ่งผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวม 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดสินเชื่อให้กับประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน พร้อมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป 6.ชาวประมงได้ขอให้ช่วยหาแรงงานเข้ามาสู่การประมง 7. ข้อกังวลของเรือประมงขนาดเล็กไม่เกิน 30 ตันกลอส ที่กังวลจะถูกบังคับให้ติดตั้งเครื่องติดตามเรือ (VMS) ซึ่งความจริงกรมประมงไม่มีนโยบายดังกล่าว 8. ขอให้เข้มงวดการนำเข้าสัตว์น้ำที่ไม่มีหนังสือรับรองการจับสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันการลักลอบนำสัตว์น้ำผิดกฎหมายมาขายในประเทศ 9.ขอให้เพิ่มวันทำประมง ภายหลังเกิดปัญหาเมื่อกำหนดวันให้เรือที่มีการจับสัตว์น้ำประเภทอวน ทำงานได้ 240 วันต่อปีแต่ต้องจ่ายค่าแรงทุกวัน และทำให้ขาดทุน โดยทางคณะกรรมการฯ เห็นชอบให้ทบทวนความเป็นไปได้และศึกษาเรื่องการคำนวณวันของสัตว์น้ำให้ชัดเจน 10. การขอให้ยกเลิกโครงการฟลีตการ์ด (Fleet Card) ซึ่งชี้แจงว่าเป็นเพียงนโยบายโยนหิน เพื่อแก้ปัญหาน้ำมันเถื่อนในเรือขนาดใหญ่ที่ต้องจับสัตว์น้ำระหว่างอาณาเขต 2 ประเทศ ยืนยันไม่มีการดำเนินโครงการดังกล่าวภายในเร็ววันนี้ และ 11. ขอให้ทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม
น.ส.รัชดากล่าวว่า ทางคณะกรรมการฯ ได้รับเรื่องดังกล่าว ส่วนเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะติดขัดข้อกฎหมายและต้องศึกษาผลกระทบ จึงเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ประกอบด้วยผู้แทนหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยมีที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน โดยจะเริ่มประชุมครั้งแรกในเดือนมกราคม 2563 อย่างไรก็ตาม พี่น้องชาวประมงได้พึงพอใจต่อการดำเนินการทั้งหมด โดยรัฐบาลยืนยันว่าการดำเนินงานทุกอย่างจะต้องควบคู่ไปกับข้อเรียกร้องของชาวประมงที่เป็นคนในพื้นที่
นอกจากนี้ น.ส.รัชดากล่าวว่า ยังมีข่าวดี โดยในที่ประชุมรับทราบโอกาสที่ทางไทยจะส่งสินค้าเกษตรประมง ไปยังภูมิภาคอียูในปีหน้าและมีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งถ้าเราสามารถเจรจาการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหราชอาณาจักร สินค้าประมงของเราส่งไปยังสหราชอาณาจักร ภาษีเป็นศูนย์ หากไทยและสหราชอาณาจักรทำสำเร็จ และหากอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) สำเร็จ ปีหน้าจะเป็นโอกาสทอง ส่วนแผนระยะยาวจะพิจารณาแผนนโยบายการประมงแห่งชาติในปี 2563-2567 เป้าหมายมุ่งสู่การมุ่งให้พื้นทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ พี่น้องชาวประมงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคง สิ่งแวดล้อมอยู่ในสภาพที่ดีต่อไป
“หลังจากที่ไทยได้รับการปลดใบเหลืองไอยูยูแล้ว ยังชะล่าใจไม่ได้ เพราะอียู ยังติดตามการทำงานตลอดเวลา และสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่คือ การแก้ไขกฎหมายที่ยังไม่สมบูรณ์ รวมถึงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของชาวประมงด้วย ขณะเดียวกัน ต้องทำงานร่วมกับต่างประเทศ เพราะเรื่องการประมงเกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง เช่น เรือที่ผิดกฎหมายของประเทศอื่น แล้วจะไปทำลายที่บังกลาเทศ ผ่านน่านน้ำไทย อย่างเรืออุทัยวรรณ (UTHAIWAN) จอดอยู่ที่ภูเก็ต ซึ่งกำลังเป็นประเด็นอยู่ เป็นเรื่องของต่างประเทศที่เข้ามาและอียู กำลังจับจ้องอยู่ ฉะนั้น รัฐบาลจะต้องทำงานร่วมกับต่างประเทศและประเทศเพื่อนบ้านด้วย นอกจากนี้ เรามีเป้าหมายปักธงให้ประเทศเป็นไอยูยูฟรีไทยแลนด์ (IUU Free Thailand) เราจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจไอยูยู แต่ต้องคำนึงถึงการทำประมงของพี่น้องชาวไทยที่มีวิถีชีวิตแตกต่างจากภูมิภาคอื่น” น.ส.รัชดากล่าว