เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม “มติชน” รายงานข่าวแจ้งว่าเมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้ออกหนังสือฉบับเวียนให้แก่คณะกรรมการวัตุอันตรายทั้ง 24 คน ให้รับรองผลการประชุม ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ที่ระบุว่าให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตรายพาราควอต และ คลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยกำหนดเวลาบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วนวัตถุอันตรายไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ ตามมิติคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเอกสารระบุว่ามีคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่เห็นด้วย อาทิ นางสมศรี สุวรรณจรัส กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ นางชุติมา รัตนเสถียร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนองค์การสาธารณประโยชน์ด้านการเกษตรกรรมยั่งยืน
“นอกจากนี้ ล่าสุด ยังพบว่าตัวแทนคณะกรรมการวัตถุอันตราย 2 คน ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข คือนายไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือแจ้งผลการพิจารณากลับไปกลุ่มวิชาการและเลขานุการ กองบริหารจัดการวัตุอันตราย กรมโรงงานอุสาหกรรม ไม่รับรองผลการประชุมวันที่ 27 พ.ย.”
โดยมีสาระสำคัญคือ ยังคงยืนยันรับรองผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม คือให้แบน 3 สารเคมี และให้มีผลวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ด้วยเหตุผลว่าในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ไม่มีการลงมติโดยการลงคะแนนแต่อย่างใด และ ไม่มีการยกเลิกมติการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 49-9/2562 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย
ดังนั้นจึงไม่สามารถรับรองรายงานการประชุมครั้งนี้ได้ รวมทั้งมีความคลาดเคลื่อนในการบันทึกการประชุม ซึ่งได้นำเสนอที่ประชุมถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการตามพ.ร.บ.อาหารว่ามีองค์ประกอบของ “ผู้แทนองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ผู้แทนภาคเอกชน” ซึ่งไม่ได้ปรากฎในเอกสารรายงานการประชุมคณะกรรมการวัตุอันตรายครั้งที่ 1-2562 วันที่ 27 พ.ย. หน้า15/27บรรทัด 19-20
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ดร.จิราภรณ์ ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม ก็ลาออกจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพราะไม่เห็นด้วยกับมติวันที่ 27 พฤศจิกายน
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า การทำหนังสือไม่รับรองผลการประชุมในวันที่ 27 พฤศจิกายนของคณะกรรมการวัตถุอันตรายของ 4 คน และ อีก 1 อดีตคณะกรรมการฯ ที่ลาออก รวมเป็น 5 คน จึงสะท้อนให้เห็นว่า การที่นายสุริยะ แถลงมติเอกฉันท์ 24 ต่อ 0 ไม่เป็นความจริง และรวบรัด อีกทั้งยังไม่มีการลงมติ และการบันทึกการประชุมไม่ตรงตามข้อเท็จจริง
เชื่อว่าหากมีการฟ้องร้องมติในวันที่ 27 พฤศจิกายน อาจทำให้มีผลเป็นโมฆะ เพราะมีพยานที่หลักแน่นจากกระทรวงสาธารณสุขถึง 2 คน และ คณะกรรมการฯ จากผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน และสภาเภสัชกรรม 1 คน อีกทั้งการใช้วิธีเวียนหนังสือรับรองให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งถือว่าไม่ใช่วิธีปกติ เพราะโดยปกติจะใช้ในโอกาสพิเศษที่ไม่สามารถประชุมได้ รายงานข่าวระบุ
ด้าน นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข กล่าวว่า จากการติดตามการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายวันที่ 27 พฤศจิกายน จากการถอดเทปมาฟังก็ไม่ครบถ้วน และ มีคณะกรรมการวัตถุอันตราย และผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้ง สภาเภสัชกรรม แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย ให้ยึดเวลาการใช้ 3 สารเคมี
จึงทำให้มติดังกล่าวใช้ไม่ได้ ประกอบกับก่อนหน้ามีข้อมูลจากสาธารณสุข และ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร มีมติ 423 ต่อ 0 ก็ยืนยันผลกระทบทางด้านสุขภาพที่ชัดเจน และแนวทางทดแทนการใช้ 3 สารเคมีเพื่อไปสู่เกษตรอินทรีย์ และตลอด 40 ปี มีการร้องเรื่องนี้ผ่านทุกองค์กรมาอย่างต่อเนื่องแล้ว เพราะสุขภาพของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญสุด
“หากจะทำให้การแบนสารเคมีได้สำเร็จจริงๆ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศเกษตรอินทรีย์เป็นวาระแห่งชาติ เพราะท่านเป็นผู้มีอำนาจ” นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว