จากกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ มีมติขับ 4 ส.ส. ประกอบด้วย ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เขต 8 เชียงใหม่, จารึก ศรีอ่อน ส.ส.เขต 2 จันทบุรี, พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.เขต 1 จันทบุรี และ กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.เขต 7 ชลบุรี พ้นจากพรรคอนาคตใหม่ ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา กล่าวในรายการ Ringsideการเมือง ประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน ว่า
ส่วนตัวจะไม่มองว่าใครผิด ใครถูก เพราะแต่ละคนก็ทำตามที่กฎหมายกำหนด แต่จะมองไปที่กระบวนการคัดสรรคน และการจัดการของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งตอนนี้ มันชัดเจนแล้วว่า แม้ทีมผู้บริหารของพรรคจะมองว่าพรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคอุดมการณ์นิยม ทุกคนควรมีแนวคิด หรือหลักการทำงานที่สอดคล้องกัน แต่ในความเป็นจริง อุดมการณ์หรือแนวทางพรรคมันไม่ได้เกิดขึ้นกับสมาชิกทุกคน แล้วคนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในพรรคได้อย่างไร คนกลุ่มนี้ ซึ่งอยู่ในพรรคมีจำนวนเท่าไร นี่คือเรื่องที่ต้องคิด
เพราะดูเหมือนว่านอกจากพรรคต้องเจอกับปัญหาภายนอก ปัญหาภายในพรรคเอง ก็หนักหนาไม่แพ้กัน หรือจะไล่ให้คนเห็นต่างพ้นออกไปจากพรรคให้หมด ก็ยิ่งจะโดนแรงเสียดทานว่าพรรคมีลักษณะของอำนาจนิยม และยังบั่นทอนยุทธศาสตร์ของเกมในสภา ที่ต้องอาศัยตัวเลข ส.ส. เป็นกำลังสำคัญ
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวต่อว่า พรรคอนาคตใหม่ กำลังเดินอยู่บนเส้นทางที่หวาดเสียว เพราะการตัดสินใจพามวลชนลงถนน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม และประกาศว่าจะกลับมาอีก เท่ากับเป็นการประกาศแนวทางการเมืองต่อไป ที่จะใช้เกมในสภา ร่วมกับเกมบนท้องถนน ประเด็นคือ การประกาศออกมาเช่นนั้น เท่ากับไม่เหลือทางหนีให้กับตัวเองมากนัก อย่างไรเสีย ก็ต้องนำมวลชนไปชุมนุม แม้ว่าผลการตัดสินของศาลที่เกี่ยวกับพรรคและหัวหน้าจะเป็นอย่างไร ก็ต้องลุยไปข้างหน้า เพราะถ้าถอย จะถูกมองว่าทำเพื่อตัวเอง แต่ถ้าเดินต่อ จะถูกมองว่าพาบ้านเมืองไปสู่ความขัดแย้ง แล้วพรรคอนาคตใหม่จะจัดการเรื่องนี้อย่างไร
ทั้งนี้ การลงถนนของพรรคอนาคตใหม่ มีสิ่งที่น่าชมเชย เนื่องจากพรรคอนาคตใหม่กำลังรวบรวมกลุ่มประชาชน ที่มีปัญหาเรื่องปากท้องเข้ามาไว้ด้วยกัน ดังนั้นการชุมุนมของพรรคอนาคตใหม่ในอนาคต จะไม่ใช่การรวมกลุ่มของคนที่มีอุดมการณืทางการเมืองเดียวกัน แต่ยังเป็นการรวมกลุ่มทางวิชาชีพ ที่จะใช้เวทีนี้ มาเรียกร้องการแก้ปัญหา ซึ่งนับว่าเป็นมิติใหม่ของการชุมนุมทางการเมือง