นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจภายใต้หัวข้อรัฐมนตรีที่ อยากมอบของขวัญปีใหม่เพื่อเป็นกำลังใจให้มากที่สุด ได้แก่
– พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (58.8%)
– อนุทิน ชาญวีรกูล (21.5%)
– พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ (9%)
– วิษณุ เครืองาม (5.6%)
ส่วนคนดังที่คนไทยอยากให้ของขวัญมากที่สุด ในหมวดดารานักแสดง-นักร้องชายและหญิง ได้แก่
– ณเดชน์ คูกิมิยะ
– ตูน บอดี้สแลม
– ญาญ่า อุรัสยา
– ต่าย อรทัย
นักการเมืองที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงว่า อยากเดินทางไปเที่ยวด้วยมากที่สุดคือ
– ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (20.2%)
– พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (18.5%)
– อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (10.4%)
– ทักษิณ ชินวัตร (8.5%)
สิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการปี 2563 คือ
– แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
– ควบคุมราคาสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน
– จัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ
– พัฒนาการศึกษา
– ดูแลค่าครองชีพให้เหมาะสม
– มีงานทำ
ขณะที่การประเมินผลการแก้ไขปัญหารัฐบาลด้านต่าง ๆ จากคะแนนเต็ม 10 พบว่า
– การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ได้คะแนน 5.56
– ปัญหาคอร์รัปชั่นได้คะแนน 5.81
– ปัญหาความขัดแย้งได้คะแนน 5.34
ขณะที่พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างระหว่างวันที่ 11-20 ธันวาคมที่ผ่านมา จำนวน 1,223 ตัวอย่างทั้งประเทศ พบว่า จะมีเงินสะพัดประมาณ 137,809 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ 135,279 ล้านบาท หรือขยายตัว 1.9% โดยถือว่าขยายตัวต่ำสุดรอบ 12 ปี หลังประชาชนกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจ จึงใช้จ่ายด้วยความระมัดระวัง
ทั้งนี้ พบว่า คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะใช้จ่ายเพื่อตัวเองเพิ่มมากขึ้นที่ 24.6% (+18.2% จากปีที่แล้ว) ส่วนใหญ่ใช้ไปกับการทำบุญทางศาสนา สังสรรค์ จัดเลี้ยง และการท่องเที่ยว ตามมาด้วยการใช้จ่ายเพื่อตัวเองและผู้อื่น 74.1% (-16% จากปีที่แล้ว) และการใช้จ่ายสำหรับผู้อื่น 1.3% (-2.3% จากปีที่แล้ว) โดยของขวัญยอดนิยมช่วงปีใหม่ที่คนมักจะซื้อให้กัน 3 อันดับแรกในช่วงปีใหม่ ได้แก่ ของรับประทาน, สินค้าคงทน (เครื่องใช้ไฟฟ้า, เครื่องเรือน ฯลฯ) และเครื่องดื่มบำรุงร่างกาย
ส่วนสภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 30.2% มองว่าภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมีผลต่อการใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ ‘มาก’ รองลงมา 30% บอกว่ามีผลน้อย ขณะที่อีก 29.4% และ 10.4% บอกว่ามีผลปานกลางและไม่มีผลเลยตามลำดับ
โดยปัญหาที่กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่ารัฐบาลควรเร่งแก้ไขให้เร็วที่สุดประกอบด้วย เศรษฐกิจโดยรวม (31%), ปัญหาสังคม (26.5%), เสถียรภาพทางการเมือง (21.9%), การเตรียมความพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ (20.5%) และการทุจริตคอร์รัปชัน (0.1%)