ปี 2562 เป็นอีกหนึ่งปีที่ประเทศไทย มีเหตุการณ์การเมืองทีน่าจดจำเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางเหตุการณ์สะเทือนการเมืองไทยไปอีกหลายปี ทีมข่าว Ringsideการเมือง ขอนำเสนอเหตุการณ์เด่นระดับ “Big Event” ประจำปี 2562 มาเตือนความทรงจำ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในปีที่การเมืองไทยกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย
เลือกตั้ง 62
“เลือกผู้แทนเบอร์ ….” ผ่านโทรโข่ง โดยชายหลายคนบนรถแห่ เป็นสัญญาณว่า “การเลือกตั้ง” ของประเทศไทยบังเกิดขึ้นแล้ว หลังจากเป็นอีเว้นท์ที่ถูกลืมไปหลายปี
และการเลือกตั้งนี่เองคือที่สุดของเหตุการณ์สำคัญในปี 2562 ที่ระเบิดความมันระดับ 5 ดาวไปตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม เป็นการเลือกตั้งที่เดือดดุตั้งแต่การหาเสียง นโยบาย ผลการเลือกตั้ง และการฟอร์มรัฐบาล
ด้วยระบบ “คะแนนไม่ตกน้ำ” ทุกคะแนนมีค่า แม้ไม่ชนะเขต แต่จะนำมาถมให้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จึงทำให้พรรคน้อยใหญ่ ส่งผู้สมัครกันอย่างคึกคัก บางเขตมีผู้สมัครให้เลือกกว่า 40 คน ชนิดที่บัตรเลือกตั้ง แทบไม่พอใส่เบอร์ ระหว่างหาเสียงมีเรื่องร้องเรียนรายวัน ขณะที่การปราศรัยเป็นไปอย่างดุเดือด ไฮไลท์อยู่ที่ 2 พรรคใหญ่คือ เพื่อไทย และพลังประชารัฐ ที่งัดสรรพกำลังขึ้นมาสู้ ประสานพลังกับเกมดูด ที่พรรคน้องใหม่อย่างพลังประชารัฐ ทำได้ดีกว่า
แต่ที่น่าจับตามองคือพรรคภูมิใจไทย และพรรคอนาคตใหม่ โดยพรรคแรก เป็นการเลือกตั้งครั้งแรก ภายใต้หัวหน้าพรรคคนใหม่อย่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ถูกมองว่าเปี่ยมไปด้วยความรู้ ความสามารถ ขณะที่ยุทธศาสตร์พรรคเน้นทำงาน ไม่ตอบโต้การเมือง ตอบโจทย์ประชาชนจำนวนมาก
ส่วนที่พรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคแนวอุดมการณ์นิยม โดยหัวหน้าพรรค ซึ่งผันตัวจากนักกิจกรรม เข้ามารันการเมืองในระบบเต็มตัว หรือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถือเป็นพรรคที่มีสีสันมากที่สุดพรรคหนึ่ง โดยเฉพาะการรุกผ่านโลกโซเชียล ด้านพรรคประชาธิปัตย์ ยังสาละวันกับเรื่องจุดยืนพรรค ว่าจะไปทางไหนระหว่างร่วมงานกับ “บิ๊กตู่” หรือชูอุดมการณ์ นักวิเคราะห์มองว่าความลังเลตรงนี้ จะพาพรรคเก่าแก่สู่จุดร่วงโรยทางการเมือง
นอกจากนั้น ยังมีพรรคไทยรักษาชาติ ที่เชื่อว่าแตกมาจากพรรคเพื่อไทย โดยหวังโกยคะแนนจากคนรุ่นใหม่ เป็นอีกพรรคหนึ่ง ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะได้เสียงหลายสิบที่นั่ง แต่ทว่าพรรคน้องใหม่ กลับเล่นนอกบท ที่สุดจึงโดนยุบพรรคไปโดยปริยาย
สำหรับผลการเลือกตั้ง ปรากฎว่าพรรคเพื่อไทย ยังเป็นพรรคที่ได้เสียงมาเป็นอันดับ 1 แต่คะแนนก็น้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาประมาณกว่า 1 เท่าตัว คือจากที่เคยเป็นพรรคระดับ 260 อัพ ตั้งรัฐบาลได้ด้วยพรรคเดียว กลับเป็นพรรคที่เหลือเพียง 135 ที่นั่งเท่านั้น อันดับ 2 คือพรรคพลังประชารัฐได้เสียงมาทั้งสิ้น 117 เสียง ขณะที่พรรคอนาคตใหม่สร้างความตกตะลึง เพราะสามารถกวาด ส.ส.ได้ถึง 77 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ที่นั่งน้อยลงอย่างน่าตกใจเพียง 53 ที่นั่ง และพรรคภูมิใจไทย ที่เป็นม้าตีนปลาย ได้ที่นั่ง ส.ส.51 ที่นั่ง
การเลือกตั้ง และผลของการลงคะแนน ไม่สามารถตัดสินได้ว่าใครจะตั้งรัฐบาล ดังนั้น เกมการเมืองจึงเดินหน้าอย่างดุดันต่อไป ฝ่ายพรรคเพื่อไทย ถือคติ “ผู้ชนะ คว้าทุกสิ่ง” มั่นใจว่าพรรคที่คว้าชัยได้เสียงมาเป็นอันดับ 1 มีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ เชื่อว่า ทุกพรรคมีสิทธิ์รวมเสียงตั้งรัฐบาลแข่ง เพราะ “เพื่อไทย” มิได้ ได้เสียงเกินครึ่งเหมือนที่เคย และยังไม่รู้ว่าพรรคขนาดกลางจะไปทางไหน
หลังจากผ่านการเลือกตั้งมาได้ 3 เดือน ที่เต็มไปด้วยความอึมครึม ในที่สุด ประเทศไทยจึงมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมี “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” หวนมานั่งเป็นนายกรัฐมนตรี
กัญชาเสรีเพื่อการแพทย์
ใครจะไปคิดว่านโยบายเกี่ยวกับกัญชา จะนำภูมิใจไทยบินสูง กวาด ส.ส.ได้ถึง 51 เสียง นอกจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ที่ยืนหยัดเดินหน้านำเรื่องนี้มาหาเสียงอย่างจริงจัง
ซึ่งความจริงจังดังกล่าวยังดำเนินต่อไป หลังจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
7 สิงหาคม 2562 การเข้ากระทรวงสาธารณสุขของนายอนุทินวันแรก ได้เน้นย้ำถึงความตั้งใจในการทำนโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์ทันที และเป็นความโชคดีอย่างยิ่ง เมื่อข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุข มิได้ออกลูกคัดค้าน โดยเฉพาะนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวง มีท่าทีเป็นบวกกับนโยบายนี้อย่างยิ่ง ขณะที่รัฐบาลเอง จำต้องบรรจุให้นโยบาย อยู่ในแผนการทำงาน เพื่อให้ได้ภูมิใจไทยมาเป็นพรรคร่วม จึงอย่าแปลกใจหากนโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์จะกลายเป็น “บิ๊ก อีเว้นท์” ของรัฐบาล นายอนุทิน และพรรคภูมิใจไทย
นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง นายอนุทิน ลุยนโยบายหาเสียงที่สำคัญนี้ ผ่านกลยุทธน้ำซึมบ่อทราย ประเดิมด้วยการไล่ตรวจดูความพร้อมของหน่วยงานในความรับผิดชอบ ก่อนปล่อยแคมเปญ “สารสกัดกัญชา 1 ล้านขวด” กระจายตามโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งเป็นการผลิตภายใต้ความรับผิดชอบของ อย. เพื่อหวังนำของดีมีคุณภาพมาไล่ สารสกัดคุณภาพต้ำในตลาดมืด ที่มีโทษมากกว่าคุณ สร้างแรงต่อต้านจากผู้เสียประโยชน์ เกิดเป็นกระแสโจมตีนายอนุทิน อยู่ช่วงหนึ่ง ทว่าที่สุดแล้ว เมื่อน้ำมันกัญชาตรา อย.ไปถึงสถานพยาบาลของรัฐ กระทั่งถึงมือผู้ป่วย เสียงวิพากษ์จึงเงียบลง
เมื่อมีน้ำมันกัญชาพร้อมให้บริการ นายอนุทิน เดินเครื่องเปิดคลีนิคกัญชาตามโรงพยาบาลรัฐทันที โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2563 ทุกจังหวัด ต้องมีคลีนิคกัญชาแผนไทย รองรับความต้องการที่มีจำนวนมหาศาล ระหว่างนั้น มีได้นำสูตรยาพื้นบ้านมาขึ้นทะเบียน เพื่อให้เกิดการผลิตที่สะอาดปลอดภัย หนึ่งในสูตร ที่ อย.สามารถผลิตได้เองคือสูตรยากัญชาของนายเดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ หมอพื้นบ้านด้านกัญชา ซึ่งมีผู้ป่วยในความดูแลกว่า 4.5 หมื่นชีวิต
ทั้งนี้ นายอนุทินได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบความคืบหน้าของนโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์ มีนายแพทน์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายปานเทพ หัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมนั่งตรวจสอบการเดินหน้านโยบายกัญชา
ขณะที่ในสภา นายอนุทิน และพรรคภูมิใจไทย ยื่นกฎหมาย 2 ฉบับ ให้สภาพิจารณา คือ ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย เพื่อเปิดทางนโยบาย 6 ต้น
ด้านนายเดชา ศิริภัทร เพิ่งออกมาชมว่า “นโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทย ไปไกลกว่าที่คิด แซงหน้าหลายชาติ ทั้งที่เราเริ่มทีหลัง”
ปั่นกระแสกันแรงๆ โดยนายอนุทิน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จนเรื่องของ “กัญชา” กลายมาเป็น “เรื่อง” ที่คนไทย ต้องพูดถึง
วิบากกรรมอนาคตใหม่
สำหรับพรรคอนาคตใหม่ สถานะปัจจุบัน เป็นพรรคขนาดกลางค่อนไปทางใหญ่ ตจำนวน ส.ส.ที่ได้รับ สะท้อนความสำเร็จของยุทธศาสตร์การเมืองใหม่ ซึ่งมีอาวุธเด็ดคือ “สื่อโซเชียล” แต่ด้วยความใหม่ของพรรคนี้เอง นำมาซึ่งปัญหามากมาย ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนให้ถูกเล่นงานทางกฎหมาย อย่างง่ายดาย โดยตลอดปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ ต้องเข้าไปวนเวียนอยู่ในคดีความต่างๆ ถึงกว่า 20 คดี และบางคดี มีโอกาสถึงขั้นยุบพรรค
แต่คดีที่เป็นดราม่ามากที่สุด คือ กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ถูกกล่าวหาว่าถือครองหุ้นสื่อ ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. และระหว่างรอตัดสินคดี ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
ระหว่างการอ่านคำสั่งของศาลในสภา นายธนาธรได้ลุกขึ้นยืนในสภาและกล่าวว่า “รับทราบข้อกล่าวหา และขอยุติการปฎิบัติหน้าที่ตั้งแต่บัดนี้จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย”
เริ่มต้นการเดินเกมในสภาตามแบบฉบับของอนาคตใหม่ ที่จะตามมาด้วยคดีอีกนับไม่ถ้วน
ซึ่งสุดท้ายแล้วคดีถือหุ้นวีลักษณ์ ก็กลายเป็นนิ้งทานอสดีดธนาธรพ้นจากความเป็น ส.ส.โดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยคดีถือหุ้นสื่อของนายธนาธร ให้พ้นจากสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นับตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2562
โดยศาลวินิจฉัยว่าการยื่นเรื่องของ กกต.นั้นชอบด้วยกฎหมาย ทำให้คำร้องของนายธนาธรตกไป ที่แย้งว่ามีการรวบรัดขั้นตอน ทำให้การรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วนรอบด้าน
ศาลชี้ว่าไม่พบการจดแจ้งยกเลิกการพิมพ์ของบริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด ดังนั้นจะอ้างว่าปิดกิจการไปแล้วไม่ได้ เพราะ วีลัค มีเดีย จะกลับมาทำอีกเมื่อไหร่ก็ได้ เท่ากับวีลัคยังทำกิจการสื่อมวลชน ณ วันที่นายธนาธร สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
ศาลพิจารณาว่า นายธนาธรยังมีหุ้นวีลัคอยู่ในขณะที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นเหตุให้ขัดกับลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย จึงสั่งให้สมาชิกภาพ ส.ส. ของธนาธรสิ้นสุดลง และให้ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ลำดับถัดไปเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส. แทน
แต่คดีนี้ ยังไม่ร้ายแรงเท่าคดีที่นายธนาธร ให้พรรค “ยืมเงิน” 191 ล้านบาท ไปดำเนินกิจการพรรค ซึ่งอาจเป็นการรับบริจาคเงินโดยมีแหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง
ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
และจากคดีนี้เอง
วันที่ 11 ธันวาคม 2562 กกต.ตัดสินใจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา โดยบทการลงโทษนั้น มีความหนักหนาสาหัสถึงขั้น “ยุบพรรค”
เหตุการณ์ดังกล่าวคือปฐมบทของการต่อสู้ของพรรคอนาคตใหม่ที่กำลังจะเปลี่ยนจากสภามาเป็นถนน
และนี่จะเป็นฉากการเมืองใหม่ของประเทศไทยในปี 2563
Ringsideการเมือง