วันนี้ (28 ธันวาคม 2562) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการความปลอดภัยทางถนน ว่า
อุบัติเหตุบนท้องถนน หลายต่อหลายครั้งเกิดจากการเมาสุรา ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง ยิ่งมีความเสี่ยงสูง ประชาชนต้องช่วยกันเตือนนักดื่ม ให้มีสำนึกเรื่องเมาไม่ขับ ในอีกด้านหนึ่ง ภาครัฐจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยจะเป็นการร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากพบผู้ขับขี่เมาแล้วขับ แน่นอนว่าต้องได้รับโทษตามกฎหมาย และหากพบว่ามีการจำหน่าย จ่าย แจก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ภาครัฐจะย้อนไปเอาผิดถึงคนจำหน่าย จ่าย แจก เพราะทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม
นอกจากนั้น อยากให้ยึดถือคำนี้เอาไว้ เมาไม่ขับ พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะช่วงนี้การจราจรคับคั่ง หากวูบแล้วรถเซ จะเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ ส่วนทางกระทรวงสาธารณสุข มีความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์แน่นอน แต่อยากรอเก้อ ไม่อยากเห็นประชาชนต้องบาดเจ็บ
“ขอสรุปคำสั่งถึงข้าราชการ บุคลากร และเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง 1.ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกรณีการจำหน่าย จ่าย แจก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เยาวชนอายุไม่ถึง 20 ปี 2. ให้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทางกลับภูมิลำเนา และพิจารณาเปิดช่องทางพิเศษตามสถานการณ์ 3.ให้เตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล 24 ชั่วโมง หากประชาชนประสบอุบัติเหตุ ให้รีบแจ้งสายด่วน 1669 ได้ทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานอ้างอิงข้อมูลจาก ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถน ระบุว่าการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ของ วันที่ 27 ธันวาคม 2562 เกิดอุบัติเหตุ 464 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 43 ราย ผู้บาดเจ็บ 466 คน เกิดอุบัติเหตุ 419 ครั้ง เมื่อเทียบกับปีใหม่ 2562 ในช่วงเวลาเดียวกัน เพิ่มขึ้น 45 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 45 ราย ลดลง 2 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 428 คน เพิ่ม 38 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย และประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 4 ราย บาดเจ็บสูงสุด คือ สุราษฎร์ธานี 22 ราย
สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่จากเมาแล้วขับ ร้อยละ 30 รองลงมาคือขับรถเร็วเกินกำหนด และตัดหน้ากระชั้นชิด ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุร้อยละ 80 เป็นรถจักรยานยนต์ รองลงมาเป็นรถกระบะ ถนนที่เกิดอุบัติเหตุร้อยละ 39 เป็นถนนสายหลักของกรมทางหลวง รองลงมา เป็นถนนใน อบต./ หมู่บ้าน ร้อยละ 31
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด เวลา 16.01–20.00 น. ร้อยละ 30 รองลงมา เวลา 12.01-16.00 น. ร้อยละ 31 ช่วงอายุผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด คือ อายุ 50 ปี ขึ้นไป ร้อยละ 29 รองลงมาอายุ 30-39 ปี ร้อยละ 18
ทั้งนี้ ผลการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนและบาดเจ็บหรือเสียชีวิต กรณีผู้ขับขี่ไม่สามารถตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ด้วยวิธีเป่าทางลมหายใจได้ ในวันที่ 26 -27 ธันวาคม 2562 มีผู้ขับขี่ที่ถูกส่งไปเจาะเลือดทั้งหมด 199 ราย ทราบผล 52 ราย พบแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 26 ราย เป็นผู้ใหญ่ 21 ราย เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี 5 ราย ทั้งนี้ บทลงโทษกรณีมีผู้บาดเจ็บจากดื่มแล้วขับจะมีโทษจำคุก 10 ปี และปรับสูงสุด 200,000 บาท
ที่ผ่านมา ภาครัฐสุ่มตรวจสถานประกอบการ / ร้านค้ารวมทั้งสิ้น 2,078 แห่ง พบการกระทำผิด 22 คดี มากที่สุดได้แก่ โฆษณาส่งเสริมการตลาด การขายด้วยวิธีห้ามขาย (ลด แลก แจก แถม) ขายในเวลาห้ามขาย