นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงผลการใช้กัญชาทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ได้มอบหมายให้สถาบันประสาทวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ นำสารสกัดกัญชามาตรฐานทางการแพทย์ (medical grade) ไปใช้เพื่อการรักษา บรรเทาอาการของผู้ป่วย ผลที่ได้พบว่าเมื่อใช้สารสกัดกัญชาชนิด CBD เด่นกับผู้ป่วยเด็กโรคลมชัก จำนวน 13 คน คุมอาการชักได้ดี 2 คน มีอาการชักลดลง 10 คน และ 1 คนที่ไม่สามารถคุมอาการชักได้ ในส่วนของสารสกัดกัญชาชนิดอัตราส่วน THC:CBD เป็น 1:1 ที่ใช้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โดยรับผู้ป่วยไว้รักษาแบบคนไข้ใน (inpatient) เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย จำนวน 13 คน พบว่า ผู้ป่วยมีอาการปวดลดลง 7 คน (ผู้ป่วยทีอาการปวดทั้งสิ้น 10 คน) นอนหลับได้ดีขึ้น 10 คน (ผู้ป่วยที่มีปัญหาการนอนจำนวน 12 คน) ผู้ป่วยที่เบื่ออาหาร 5 คนมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้นทุกคน อย่างไรก็ตาม พบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้สารสกัดกัญชาในผู้ป่วยมะเร็ง ได้แก่ หูแว่วและเห็นภาพหลอน 1 คน การเคลื่อนไหวและการทรงตัวผิดปรกติ 3 คน ความคิดช้าลงจำนวน 1 คน ผู้ป่วยทุกคนมีอาการดีขึ้นเมื่อหยุด ลดขนาดยาลง และปรับเปลี่ยนวิธีการให้ยา
ประเด็นการศึกษาวิจัยในหลอดทดลอง พบว่าสาร THC และ CBD ในอัตราส่วนต่างๆ เมื่อพิจารณาจากการใช้ปริมาณน้อยแต่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองลงได้ครึ่งหนึ่ง และไม่ส่งผลต่อเซลล์ปรกติ พบว่ามีจำนวน 8 ชนิดมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งเต้านมที่มีตัวรับสัญญาณฮอร์โมนเอสโตรเจน (ER+) มะเร็งตับอ่อน มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งปอดบางชนิด และมะเร็งรังไข่ อย่างไรก็ตาม มีสารสกัดกัญชาบางอัตราส่วนเมื่อใช้ปริมาณน้อยกลับส่งผลให้เซลล์มะเร็งบางชนิดในหลอดทดลองเจริญเติบโตเร็วขึ้น