รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบของขวัญปีใหม่ เตรียมจัดงานใหญ่ต้นปี 2563 นำเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีศักยภาพ พบปะสร้างเครือข่ายและจับคู่ธุรกิจ ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอขยายส่งออกและสร้างรายได้ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทย
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดงานใหญ่ต้นปี 2563 “สัมมนาสร้างเครือข่าย ขยายตลาดส่งออกด้วยเอฟทีเอ” ระหว่างวันที่ 24 – 28 มกราคม 2563 บริเวณลานโปรโมชั่น ชั้น 1 ศูนย์การค้าสินค้าเซ็นทรัลพลาซาแจ้งวัฒนะ โดยเชิญเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีศักยภาพซึ่งเคยร่วมงานสัมมนาในจังหวัดต่างๆ ทุกภูมิภาคทั่วประเทศกับกรมฯ ในช่วงปีที่ผ่านมา มาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็จะใช้โอกาสนี้ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้พบปะสร้างเครือข่าย และจับคู่ธุรกิจกับผู้ส่งออก และผู้ประกอบการจากสมาคมการค้าต่างๆ ที่มีความสนใจหาแหล่งผลิตสินค้าเพื่อส่งออกที่กรมฯ จะเชิญมาร่วมงานเช่นกัน เพื่อสร้างโอกาสให้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยของไทย ในการขยายตลาดทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ซึ่งคาดว่า การจัดงานครั้งนี้ จะช่วยหาตลาดรองรับสินค้าเกษตร และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการในท้องถิ่นของไทย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า สืบเนื่องจากที่ตนได้นำคณะกรมเจรจาฯ ลงพื้นที่หลายจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา เพื่อพบปะกลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการในเครือข่ายของสภาเกษตรกรแห่งชาติและสหกรณ์การเกษตร พบว่า เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่นของไทยหลายราย มีศักยภาพ สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และมีความพร้อมในการส่งออกสินค้า แต่อาจยังขาดผู้ชี้แนะเรื่องการทำตลาด หรือการพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานตามกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จึงได้มอบนโยบายให้กรมฯ จัดงานสัมมนาเพื่อส่งเสริมให้สินค้าเกษตรและสินค้าท้องถิ่นไทยที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาดโลกโดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอที่ไทยมีกับประเทศคู่ค้าถึง 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชีลี เปรู และฮ่องกง ส่งผลให้สินค้าของไทยส่วนใหญ่สามารถส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอเหล่านี้ได้โดยเสรี ไม่ถูกเก็บภาษีศุลกากรจากประเทศผู้นำเข้า จึงอยากให้เกษตรกร และผู้ประกอบการท้องถิ่นของไทยได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอเหล่านี้ สร้างแต้มต่อทางการค้า ขยายตลาดให้กับสินค้าเกษตรไทยสู่โลก และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย
ทั้งนี้ เอฟทีเอถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างแต้มต่อทางการค้าให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย โดยในช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค.– พ.ย.) ของปี 2562 การค้าระหว่างประเทศไทยกับ 18 ประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย มีมูลค่ารวม 279,398.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น ร้อยละ 62.76 ของการค้าไทยกับโลก แบ่งเป็นมูลค่าส่งออก 141,000.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่านำเข้า 138,397.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประเทศคู่เอฟทีเอที่มีมูลค่าการค้ากับไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน มูลค่าการค้า 99,518.3 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ จีน มูลค่าการค้า 72,512.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น มูลค่าการค้า 53,399.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ออสเตรเลีย มีมูลค่าการค้า 13,223.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และ เกาหลีใต้ มีมูลค่าการค้า 12,395.4 ล้านเหรียญสหรัฐ