รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน สำรวจการใช้สารเคมีทางการเกษตรและการเจ็บป่วยทุกครัวเรือน โดยใช้แอปพลิเคชัน สมาร์ท อสม. เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และภัยจากการใช้สารเคมี
วันนี้ (6 มกราคม 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการแพทย์และสาธารณสุข กองสาธารณสุขฉุกเฉิน อาคาร 5 ชั้น 7 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดี และคณะผู้บริหาร ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค และภัยจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด (พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเสต) โดยประชาชน/อสม. ผ่าน Mobile Application สู่หน่วยบริการ (คลินิกสารเคมีเกษตร/คลินิกโรคจากการทำงาน)
นายอนุทินกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ ปี 2563 เป็นปีแห่งอาหารปลอดภัย และสนับสนุนการเกษตรอินทรีย์ ยืนยันสนับสนุนการยุติการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตร ได้ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 1 ล้านคนใช้แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเอไอเอส สำรวจการใช้สารเคมีทางการเกษตร วิธีการทางธรรมชาติอื่นๆ ที่ปลอดภัย และข้อมูลการเจ็บป่วยที่คาดว่าอาจมาจากสารเคมี โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรวัยแรงงานซึ่งมีความเสี่ยงจากการสัมผัส มีความเป็นพิษต่อร่างกาย ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง เป็นการยกระดับระบบการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยจากสารเคมีทางการเกษตรให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำ สามารถระบุพิกัดครัวเรือน เพื่อนำเข้าคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมจังหวัด นำไปวิเคราะห์ปัญหา วางแผน และหาแนวทางแก้ไขเพื่อยุติสารเคมีทางการเกษตรของพื้นที่ โดยเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ด้านเกษตรกรรม ของกรมควบคุมโรค โดยสำรวจ 2 ครั้งพร้อมกันทั่วประเทศ ในเดือนมกราคม 2563 และครั้งที่ 2 วันที่ 1 – 31 กรกฎาคม 2563
“การสำรวจครั้งนี้ จะทำให้ได้ข้อมูลการใช้สารเคมีทางการเกษตรของทุกครัวเรือน และข้อมูลการเจ็บป่วยที่ครบถ้วน แม่นยำขึ้น เพราะจะมีข้อมูลของกลุ่มที่ไม่ได้ไปรับการรักษาที่สถานพยาบาล นำไปวางแผนเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพจากการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรและประชาชนในอนาคต” นายอนุทินกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนด ตัวชี้วัดให้ทุกจังหวัดขับเคลื่อนมาตรการยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตร ประกอบด้วย 1.มีการขับเคลื่อนมาตรการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับส่วนกลางและภูมิภาค อย่างน้อยจังหวัดละ 1 เรื่อง ผ่านกลไกของคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมจังหวัด 2.มีระบบรับแจ้งข่าว การใช้/ป่วยจากการสัมผัสสารเคมีทางการเกษตร โดยประชาชน/อสม. ผ่าน Mobile Application และ3.จังหวัดมีการจัดทำฐานข้อมูลอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ด้านเกษตรกรรม และรายงานการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต