วันที่ 20 มกราคม 2563 ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานตามโครงการและนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมตรวจเยี่ยมสถานศึกษา ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/63 ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) ณ กศน.ตำบลท่าประดู่ แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวชุมชน สังกัด กศน.อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช. ดร.พะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ. และคณะผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีผู้อำนวยการสถานศึกษา บุคลากรและนักศึกษาในสังกัด รวมถึงภาคีเครือข่ายให้การต้อนรับ
ดร.กนกวรรณ รมช.ศธ.กล่าวตอนหนึ่งว่า “ การลงพื้นที่ในวันนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการลงพื้นที่ สำนักงาน กศน.จังหวัดปัตตานี เมื่อคราวตรวจราชการและติดตามการจัดการศึกษาตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการให้แก่สถานศึกษาล่วงหน้า เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา โดยในวันนี้ ตนมีความตั้งใจลงพื้นที่เพื่อติดตามข้อมูลการจัดการศึกษาในกลุ่มโซนพื้นที่ภาคใต้ชายแดนเพิ่มเติมในจังหวัดสงขลา ที่ประกอบด้วย อำเภอจะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย) เพื่อประโยชน์ในการติดตามการดำเนินงานการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) วันพรุ่งนี้ “ เพื่อให้เกิดการพัฒนาขับเคลื่อนด้านการศึกษาเพื่อเตรียมคนไทยทุกช่วงวัยให้พร้อมเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างมีคุณภาพ ตนได้กำหนดนโยบายในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยให้เร่งพัฒนาปรับปรุงสื่อนิทรรศการ และกิจกรรม โดยประสานความร่วมมือกับ เครือข่ายพันธมิตร ๔ แห่ง ประกอบด้วย อพวช. สวทช. SEAMEO STEM – ED และ SEAMEO SEPS ที่มีบทบาทสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ดำเนินการความร่วมมือในรูปแบบ Partnership ในอันที่จะร่วมพัฒนารูปแบบการเรียน การจัดกิจกรรม การศึกษาวิจัยที่จะช่วยวางรากฐานในด้านวิธีคิด วิธีการเรียนรู้ พฤติกรรม และการนำองค์ความรู้ไปใช้ เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป รวมทั้งให้ทุกจังหวัดในพื้นที่กลุ่มจังหวัดชายแดนใต้เร่งดำเนินการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ จาก OOCC (ONIE Online Commerce Centre) ที่โดดเด่น ๑๐๐ ผลิตภัณฑ์ ตามที่ได้กำหนดนโยบายให้ทุกจังหวัดเร่งดำเนินการ เพื่อเข้าคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ OOCC ที่โดดเด่น ๑๐๐ ผลิตภัณฑ์ของประเทศ ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าดีเด่นระดับประเทศ พร้อมกันนี้ให้สำรวจสถานีบริการน้ำมัน ที่อยู่ในพื้นที่ว่าแห่งใดมีทำเลที่เหมาะสมต่อการนำผลิตภัณฑ์ OOCC ไปวางจำหน่ายเพื่อเป็นการขยายช่องทางการจำหน่ายและสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ จชต. ต่อไป
ส่วนการสอบครูผู้ช่วยในพื้นที่ จชต.กรณีไม่มีใบประกอบวิชาชีพและกรณีปฏิบัติงานไม่ครบ ๓ ปี สามารถสมัครสอบตามอัตราที่กำหนดได้หรือไม่ นั้น ตนมีความตั้งใจและมุ่งมั่นส่งเสริมให้บุคลากร กศน.ก้าวไปสู่ความมั่นคงในอาชีพในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างจริงจัง โดยได้กำหนดให้มีการสอบครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงาน กศน. จำนวน ๓๙๖ อัตรา และกำหนดให้มีการปรับหลักเกณฑ์และคุณสมบัติให้สอดคล้องกับผู้ปฏิบัติงาน กศน.มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานราชการ ครูอัตราจ้าง และบุคลากรของ กศน. ให้ได้รับโอกาสในการเข้ารับราชการ รวมถึงจะทำให้ กศน.มีข้าราชการประจำเพิ่มขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างยั่งยืนต่อไป พร้อมกันนี้ยังได้กำหนดให้เร่งจัดตั้งอัตรากำลังข้าราชการครูให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาเพื่อประโยชน์ในการให้บริการด้านการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้กับประชาชน ส่วนปัญหาที่สะสมมานาน ตนพยายามทลายทุกข้อจำกัดในหลายๆด้าน เช่น การจัดซื้อครุภัณฑ์ต่างๆเพื่อการจัดการศึกษานั้น ตนให้เร่งดำเนินการปรับแก้ กฎ ระเบียบ กฎหมาย ที่เป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้ โดยเฉพาะในเรื่องการเงินและพัสดุ เพื่อแก้ปัญหาการซื้อครุภัณฑ์ การปรับปรุงซ่อมแซม การจัดการศึกษาอาชีพ การซื้อวัสดุอุปกรณ์ เพื่อเอื้ออำนวยการเรียนรู้ของผู้เรียนให้สามารถดำเนินการได้ตามความต้องการของผู้เรียน และแก้ปัญหาให้กับสถานศึกษาได้ทันความต้องการ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ประสบสาธารณภัยเป็นประจำ อาทิ วาตภัย อุทกภัย ทำให้สถานศึกษาเสียหายและประสบปัญหาในเรื่องเบิกจ่ายดังกล่าว ตลอดจนเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนก็ได้สั่งการให้มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ให้มีความทันสมัย เพื่อแก้ปัญหาจำนวนวิชาที่มากเกินความจำเป็น จำนวนวิชาที่ซ้ำซ้อน จำนวนเวลาเรียนที่มากหรือน้อยเกินไป รวมถึงวิธีวัดและประเมินผล สำหรับกลุ่มเป้าหมายการศึกษานอกระบบโรงเรียน เพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อตนลงพื้นที่ในหลายจังหวัด พบว่าประชาชนมีความต้องการเรียนหลักสูตรอาชีพระยะสั้นเป็นจำนวนมาก จึงมอบให้เร่งพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น การสอนภาษาเพื่อพัฒนาอาชีพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ให้จัดสอนหลักสูตรภาษายาวี มลายู ตามความต้องการของพื้นที่ ส่วนจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น จังหวัดพิษณุโลกที่อนุรักษ์อาชีพสามล้อถีบ รับนักท่องเที่ยวต้องการให้กศน.จัดสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส รวมทั้งกรณี จังหวัดแม่ฮ่องสอนให้เตรียมการจัดหลักสูตรอาชีพบริการนักท่องเที่ยว การจัดการโรงแรม โดยร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น
นอกจากนี้ได้กำหนดให้มีการใช้ประโยชน์จากโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัด สพฐ. ที่ถูกควบรวม โดยให้ สำนักงานกศน.จังหวัดพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ดำเนินการสำรวจสถานศึกษาของ สพฐ. ที่ถูกควบรวม ยุบเลิก เพื่อประสานขอใช้ประโยชน์ในการจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ทุกช่วงวัย กศน. หรือ กศน.ตำบล หรือศูนย์การเรียนรู้อื่นๆตามความเหมาะสม โดยให้ดำเนินการปรับปรุงห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” ในจังหวัด จชต. และจังหวัดอื่น ๆ โดยให้เร่งดำเนินการสำรวจและทำแผนปรับปรุง ซ่อมแซม และพัฒนาแล้วเสร็จทันการเสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ส่วนข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในพื้นที่ให้พร้อม ตรงกับความต้องการของผู้เรียนและเอื้อต่อการเรียนรู้นั้น รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการยินดีสนับสนุนอย่างเต็มที่ ภายใต้กรอบการทำงาน และความถูกต้องของระเบียบกฎหมายและจะให้มอบหน่วยงานต้นสังกัดพิจารณาเร่งดำเนินการแก้ไขต่อไป” รมช.ศธ.กล่าว
ทั้งนี้นโยบายดังกล่าว นอกจากจะสร้างขวัญ กำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานแล้ว ยังเป็นได้สร้างความสุขและยกระดับการพัฒนาความก้าวหน้าทางการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมในการนำไปสู่การศึกษาทุกช่วงวัยอย่างแท้จริง
ข่าว: เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ กรรณิกา พันธ์คลอง
ภาพ: เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ