ไทยรัฐ รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง เสียงประชาชนต่อโรคโคโรน่า กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่าน “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ด้วยระบบ Net Super Poll จำนวน 5,968 ตัวอย่าง และ “เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม” (Traditional Voice) จำนวน 1,302 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 29 มกราคม–1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.6 คิดว่า ช่วงเวลาของการระบาดโรคโคโรน่า จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในขณะที่ร้อยละ 40.4 คิดว่า จะระบาดอีกนาน เป็นช่วงระยะยาว อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.7 มีความตื่นตัวดูแลสุขภาพมากขึ้น ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงคนหนาแน่น แหล่งท่องเที่ยว เวลาทานอาหารร่วมกับผู้อื่น กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 12.3 ยังเฉยๆ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ไม่ตื่นตัวอะไร
ที่น่าสนใจคือ ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระทรวงสาธารณสุขไทย หมอไทยเก่ง เชื่อมือหมอ ระบบสาธารณสุขไทยดี คุมโรคระบาดได้อยู่ ร้อยละ 57.9 ในขณะที่ไม่เชื่อมั่นร้อยละ 42.1 อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.7 เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำงานเต็มที่แล้ว และส่วนใหญ่เช่นกันหรือร้อยละ 63.6 เห็นว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทำงานเต็มที่แล้ว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กล่าวด้วยว่า ผลการสำรวจประมาณการ “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ผ่านระบบ Net Super Poll เกี่ยวกับโรคระบาดโคโรน่า พบว่า มีจำนวนคนที่ข้อมูลโรคระบาดโคโรน่าเข้าถึงในโลกโซเชียลเพิ่มขึ้นจาก 21,602,083 คน หรือประมาณ 21 ล้านกว่าคนในวันที่ 25 มกราคม สูงขึ้นมาอยู่ที่ 22,998,547 คน หรือเกือบ 23 ล้านคนในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ผอ.ซูเปอร์โพล ยังกล่าวว่า พฤติกรรมการพูดคุยของคนในโลกโซเชียลเป็นเชิงบวกต่อการตื่นตัวและใส่ใจสุขภาพมากขึ้นร้อยละ 54.2 ในขณะที่เป็นข้อความเชิงลบอยู่ที่ร้อยละ 45.8 ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากและที่น่าห่วงคือ กลุ่มคนอิทธิพลในโลกโซเชียลของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลส่วนใหญ่จะโจมตีรัฐบาลและเผยแพร่ข้อมูลน่ากลัวเกี่ยวกับโรคระบาดโคโรนา แต่ข้อมูลจากสำนักข่าวกระแสหลักจะให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์เชิงเฝ้าระวังป้องกันมากกว่า อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนในโลกโซเชียลกลางๆ ไม่ฝักใฝ่การเมืองจะส่งข้อความส่วนใหญ่เป็นเรื่องการแนะนำใส่หน้ากากอนามัยป้องกันได้ทั้งฝุ่นและโรคระบาด นอกจากนี้ ยังค้นพบข้อความให้กำลังใจเตือนให้ระวังการติดเชื้อและการให้กำลังใจกันต่อคนไทยและต่างชาติมากกว่าจะมองเป็นเรื่องการเมือง เช่น ใส่หน้ากากอนามัย คนจีนเขาไม่กล้าด่ารัฐบาลของเขา เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมืองเขาแยกแยะออก เป็นต้น.