AFP รายงานว่า นักวิจัยจากทั่วโลกกำลังระดมกำลังกันหาวัคซีน เพื่อจัดการกับไวรัสโคโรนา โดยทีมนักวนักวิจัย ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด อาจจะเป็นทีมจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งคาดว่าจะผลิตวัคซีนพร้อมใช้งานได้ใน 6 เดือน
นักวิจัยจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อเร่งรัดพัฒนาวัคซีนต่อสู้การระบาดของไวรัสโคโรนาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 800 คนในจีน และผู้ติดเชื้ออีกกว่า 37,000 คนในกว่า 20 ประเทศ นับจากที่เริ่มต้นระบาดเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยทีมจากออสเตรเลียคาดหวังประสบความสำเร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งนำโดย เคธ แชปเพลล์ นักวิจัยอาวุโสที่เป็นส่วนหนึ่งของทีมผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม แม้จะประสบความสำเร็จ สามารถผลิตวัคซีนได้ใน 6 เดือน แต่ก็ยังถือว่าช้า เพราะไวรัสตัวนี้ แพร่กระจาย และคร่าชีวิตชาวจีนทุกวัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้อยู่เบื้องหลังการศึกษาวิจัยเพื่อผลิตวัคซีน คือกลุ่ม โคลิชัน ฟอร์ เอพิเดมิก พรีแพร์เนสส์ อินโนเวชันส์ (เซพี) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 ซึ่งอยู่เบื้องหลังวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพในการจัดการโรคอีโบล่าด้วย
ริชาร์ด แฮตเชตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เซพี เผยว่า ขณะนี้ได้อัดฉีดเงินทุนหลายล้านดอลลาร์ให้โครงการ 4 แห่งทั่วโลก โดยคาดหวังใช้เทคโนโลยีใหม่ในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสอูฮั่นที่สามารถเริ่มต้นทดสอบทางคลินิกได้ในเวลาเพียง 16 สัปดาห์
รายงานระบุว่า เคียวแวค บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ของเยอรมนี และโมเดอร์นา เทอราพิวติกส์ของอเมริกา กำลังใช้ทีมนักวิจัยเพื่อผลิตยาในการฆ่าไวรัสตัวนี้เช่นกัน