หน้าแรก news เสมา 3 ดัน กศน.ปรับโฉมห้องสมุดให้เป็น แหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต ตอบโจทย์การจัดการการเรียนรู้ในชุมชนทุกช่วงวัย

เสมา 3 ดัน กศน.ปรับโฉมห้องสมุดให้เป็น แหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต ตอบโจทย์การจัดการการเรียนรู้ในชุมชนทุกช่วงวัย

0
เสมา 3 ดัน กศน.ปรับโฉมห้องสมุดให้เป็น แหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต ตอบโจทย์การจัดการการเรียนรู้ในชุมชนทุกช่วงวัย
Sharing

ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะ เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี อ.เมือง จ.กำแพงเพชร เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
โดยดร.กนกวรรณ รมช.ศธ.ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของห้องสมุดฯ จังหวัดกำแพงเพชรว่า “ ขอชื่นชมการทำงานของผู้บริหาร และบุคลากรทุกท่าน ที่พร้อมดำเนินงานต่างๆ ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจอย่างเต็มกำลังความสามารถในการส่งเสริมและจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อทำให้ประชาชนอ่านออก เขียนได้ ตนรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้มาห้องสมุด เพราะเดิมตนเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก แต่ด้วยห้วงเวลานี้งานค่อนข้างมาก จึงทำให้ห่างหายไปบ้าง แต่มาเห็นหนังสือเรื่อง “ล่องไพร” ก็รู้สึกสนใจ และตั้งใจว่าจะต้องไปยืมที่ห้องสมุดมาอ่านอย่างแน่นอน วันนี้มีความตั้งใจที่จะมาเยี่ยมชมการทำงานและให้กำลังบุคลากรในการทำงานเพื่อประชาชน และทราบว่าที่นี่ให้บริการแก่ประชาชนหลายช่วงวัย รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ใช้เวลามานั่งอ่านหนังสือ และมาเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์อยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ห้องสมุดฯ แห่งนี้ยังมีการให้ใช้พื้นที่ห้องสมุดให้เกิดประโยชน์อื่นๆ หลายด้าน อาทิ ใช้พื้นที่ในการสอนภาษาอังกฤษ หรือการสอนวิชาอื่นๆ ที่ประชาชนให้ความสนใจ และมีการจัดวางสินค้าชุมชน สินค้าซึ่งเป็นผลิตผลของนักศึกษา กศน.และสินค้าของวัดพระบรมธาตุเพื่อจำหน่ายเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชน เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก ถือว่าได้ให้บริการประชาชนโดยอาศัยการมีส่วนร่วมในชุมชนอย่างแท้จริงอีกทางหนึ่ง”
ดร.กนกวรรณ รมช.ศธ. กล่าวเพิ่มเติมตอนหนึ่งว่า “ ห้องสมุดนับว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในชุมชน เราต้องร่วมกันคิดว่าทำอย่างไร จึงจะทำให้ที่นี่กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต เป็นศูนย์กลางทางปัญญาที่เป็นตัวแทนในการบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนได้ โดยจัดกิจกรรม หรือสร้างแรงจูงใจผ่านการประกวดต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีในปัจจุบันให้ได้อย่างลงตัว โดยต้องเป็นกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลัก เช่น การสอนภาษาที่ 3 ให้แก่ผู้ที่สนใจ เช่น ภาษาจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการจัดพื้นที่และสื่อการศึกษาที่เหมาะสมให้เอื้อสำหรับผู้พิการด้านต่างๆได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ในห้องสมุดร่วมกัน รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่เชื่อมโยงและสอดคล้องกับศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและภูมิปัญญาของท้องถิ่นให้กับคนทุกช่วงวัย”
พร้อมกันนี้ ดร.กนกวรรณ ได้จัดรายการ “คุยโขมง 4 โมงเย็น” ทาง Facebook Live ร่วมกับบรรณารักษ์ ของทางห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ โดยได้กล่าวทักทายผู้ชมรายการและขอบคุณบุคลากรของห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารีในรายการด้วย สร้างบรรยากาศสนุกสนานด้วยความเป็นกันเอง
ข่าว: เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ กรรณิกา พันธ์คลอง
ภาพ: เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ
วีดิโอ: ณัฐวุฒิ วากะดวน


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่