เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบบัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ร่วมบรรยายในเวทีพรรคร่วมฝ่ายค้านเสวนาซักฟอกนอกสภาฯ แฉกระบวนการไอโอ ฉีกหน้ากากขบวนการเพิ่มความขัดแย้ง โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า หลังจากที่อภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีปฏิบัติการข่าวสาร หรือขบวนการไอโอที่มีกว่า 40 สถานี ตั้งข้อสังเกตว่า ตอนนี้ได้มีการยกเลิกการปฏิบัติการทั้งหมด แต่สิ่งที่กังวล คือ ขณะนี้การใช้สิทธิเสรีภาพกลับถูกรัฐมองว่าเป็นการก่อความไม่สงบ ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศนี้ถูกมองว่าเป็นศัตรูของชาติ เรื่องแบบนี้ไม่ใช่พึ่งเกิดขึ้น แต่ถูกรีรันมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาว่าพบอุโมงค์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในยุค 6 ตุลา 2519 การกล่าวหาว่านักศึกษาในยุคนั้นว่าเป็นคอมมิวนิสต์ หรือประโคมว่าการฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป และในตอนนี้ เป็นการกล่าวหาว่าชังชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างความชอบธรรมให้ภาครัฐ
“เราไม่ได้เกลียดกันเพราะอยู่ดีๆ เราเกลียดกัน แต่เราถูกปลุกปั่นยุยงให้เกลียดกันหรือเปล่า คำว่าชาติคือการรวมกันของคนที่ชอบไม่เหมือนกัน มีความเชื่อไม่เหมือนกัน แต่เรามองว่าเราคือพวกเดียวกัน เราอยากพัฒนาพื้นที่ที่เราอยู่ร่วมกัน เอื้ออาทรต่อกันบนความแตกต่าง และพร้อมโอบรับความแตกต่างหลากหลายแล้วเดินหน้าไปด้วยกัน แต่ถ้าเมื่อใดเราแบ่งแยก แบ่งเขาแบ่งเรา แล้วเกลียดกันเพราะต่างกัน ซึ่งความต่างกันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์อยู่แล้ว ผมว่านี่คือสิ่งผิดปกติ” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ตนคิดว่าขบวนการไอโอต้องการเอาความเกลียดชังหล่อเลี้ยงฝ่ายตัวเองเพื่อพุ่งเป้าไปที่ฝ่ายตรงข้ามที่มองว่าเป็นศัตรู ต่อมาตนรู้สึกว่าคิดผิด เพราะนั้นคือความต้องการลำดับชั้นที่สอง แต่ความต้องการลำดันชั้นที่หนึ่งคือ เขาต้องการให้ผู้สนับสนุนสองฝ่ายเกิดความเกลียดชังกัน เขาต้องการใช้ผู้สนับสนุนของเขาเป็นเครื่องมือในการจัดการกับผู้ที่มองว่าเป็นศัตรู ซึ่งเรื่องนี้ต้องไม่ไปหลงคิดว่าเป็นแฟนคลับของเขาแล้วเขาจะรักคุณ เขามองคุณเป็นเพียงเครื่องมือ และสิ่งที่จะทำให้สำเร็จและเป็นเงื่อนไขในการยึดอำนาจ วางตัวเองเป็นฮีโร่ จากนั้นก็จะบอกว่าขอเวลาอีกไม่นาน เขามีความสุขที่เห็นผู้สนับสนุนอีกฝ่าย เกลียดชังด่าทอกับผู้สนับสนุนของเขา และเขาจะยินดีเมื่ออีกฝ่ายสูญเสีย นี่คือสิ่งที่น่าเศร้าที่สุด แล้วเมื่อไรที่เกิดความเกลียดชังในสังคมขึ้นมา และนั่นคือเป้าหมายแรกของเขา ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเขาไม่ได้สูญเสีย แต่แฟนคลับทั้งสองฝ่ายสูญเสีย นี่คือหนังม้วนเก่าที่เขาพยายามจะฉายซ้ำ
“คนที่ไม่เคยเห็นหน้ากัน ไม่เคยรู้จักกัน แต่เกลียดกันได้อย่างไร สังคมต้องฉุกคิดในเรื่องนี้ เรากำลังถูกกระบวนการบางอย่างทำให้เราเกลียดกันหรือป่าว ทั้งที่สังคมไทยเคยเป็นสังคมที่โอบรับความแตกต่างหลากหลาย ทั้งนี้ ผมยังไม่ได้คำตอบจากนายกรัฐมนตรี จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องการปฏิบัติการทางข่าวสาร ว่าใช้ภาษีจากภาครัฐ มาปลุกปั่นยุยงประชาชนหรือไม่ ใช้เจ้าหน้าที่รัฐ ใช้น้ำไฟของรัฐ ใช้สถานที่ของรัฐ สิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้คำตอบ แต่กลับผ่านวาระอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” นายวิโรจน์ กล่าว
วิโรจน์ กล่าวอีกว่า อยากเตือนว่าไอโอในยุคสมัยนี้ไม่เหมือนในสมัยก่อน ประชาชนในยุคนี้สามารถที่จะค้นหาข้อมูลเองได้จากโลกอินเตอร์เน็ต มีการคานอำนาจกันทางความคิด คานอำนาจกันด้วยข้อมูลข่าวสารหรือข้อเท็จจริง หากคุณเอาข่าวเท็จมาปล่อยให้เป็นความจริง คุณจะเจอกับความจริงที่ถูกต้องจากประชาชนมาคานอำนาจตัวคุณเอง ซึ่งการใช้คนจำนวนมากมาทำงานในชั้นความลับแบบนั้น คุณคิดว่าจะปกป้องความลับได้อย่างนั้นหรือ คุณคิดตื้นเกิดไป คุณอย่างมองการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นการก่อการร้าย คุณอย่ามองประชาชนเป็นศัตรู โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว อยากให้ประชาชนและสังคมฉุกคิด ว่าเราไม่ควรเกลียดกันทั้งที่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน หากเราเริ่มรู้สึกสึกเกลียดฝ่ายตรงข้าม ทั้งๆ ที่เราไม่เคยรู้จักเขามาก่อน สิ่งนั้นคือผลผลิตของไอโอ
ด้าน นายโอมาร์ หนุนอนันต์ นักศึกษา กล่าวว่า ประชาชนรุ่นตนนั้นตื่นตัวทางการเมืองเร็ว ไอโอไม่สามารถทำอะไรคนรุ่นใหม่ได้ วัยรุ่นแยกแยะออกได้ระหว่างกราฟฟิคที่มีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ ถึงตอนนี้ รัฐต้องยอมรับกับประชาชนได้แล้วว่า เป้าหมายในการทำไอโอหรือผลิตสื่อยุยงปลุกปั่นแบบนี้ กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่คนในรุ่นของตน แต่เป้าหมายที่แท้จริงของรัฐคือคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของตน ซึ่งคนยุคของตนโตมากับเทคโนโลยีและโลกาภิวัตน์ มีความใกล้ชิดกับสื่อสังคมออนไลน์เกือบ 24 ชั่วโมง แต่คนรุ่นพ่อแม่พึ่งจะมีโอกาสเข้าถึง สิ่งนี้ตนไม่ได้เหมารวมว่าคนรุ่นใหม่จะเชี่ยวชาญโซเชียล มากกว่าคนยุคก่อน แต่หากพิจารณาจากความเป็นจริงแล้ว คนรุ่นพ่อแม่ของตน พึ่งจะได้มีโอกาสเข้าถึงโซเชียลมีเดียเมื่อไม่นานมานี้เอง
“จะมีสักกี่คนที่พ่อแม่เป็นผู้สอนในการใช้เฟซบุ๊ก เพราะฉะนั้น คนรุ่นพ่อแม่มักจะอ่อนแอกว่าเมื่อเจอภัยแบบนี้ในโลกโซเชียล คนรุ่นใหม่แข็งแรงกว่าอยู่แล้วเพราะเชี่ยวชาญกว่า เพราะเข้าถึงเทคโนโลยีโลกาภิวัตน์ได้มากกว่า เพราะเขาโตมากับสิ่งเหล่านี้ สิ่งนี้ยืนยันได้ว่าไม่มีความขัดแย้งระหว่างเจนเนอเรชั่น มันไม่มีความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นใหม่สุดโต่งกับคนรุ่นเก่าหัวโบราณ มันมีแต่ลักษณะของสังคมที่คนในสังคมเข้าถึงเทคโนโลยีโลกาภิวัตน์ที่ต่างกัน ด้วยสภาพเศรษฐกิจ ด้วยสภาพสังคม ด้วยเวลา รัฐมองเห็นสิ่งนี้แล้วหยิบมาใช้ให้เป็นประโยชน์เท่านั้นเอง แต่ผลลัพธ์คือรัฐสร้างความร้าวฉานให้กับสังคม สร้างความร้าวฉานในครอบครัว ความจริงคือสิ่งเดียวที่อยู่ข้างประชาชน ความจริงคือสิ่งเดียวที่เผด็จการไม่สามารถครอบครองได้ นอกจากความจริงจะไม่อยู่ข้างเผด็จการแล้ว กาลเวลาก็จะไม่อยู่ข้างเผด็จการ” นายโอมาร์ กล่าว