ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจราชการติดตามการดำเนินงานตามนโยบาย และเยี่ยมชมให้ขวัญกำลังใจแก่ เยาวชนและบุคคลออทิสติก รวมทั้งบุคลากร กศน.เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.ชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย ดร.ปรเมศวร์ ศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. กรุงเทพมหานคร นายณัฐพงษ์ รงคะวิรุจน์ชัย ผู้อำนวยการ กศน. เขตตลิ่งชัน และบุคลากร กศน. ให้การต้อนรับ ณ มูลนิธิออทิสติกไทย (Autistic Thai Foundation) พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร เมื่อบ่ายวันที่ 13 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
ดร.กนกวรรณ รมช.ศธ. กล่าวตอนหนึ่งว่า “ ขอขอบคุณและขอแสดงความชื่นชมผู้บริหาร วิทยากรตลอดจนบุคลากรของมูลนิธิออทิสติกเป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านทั้งหลายได้มุ่งมั่นพัฒนา จัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ และฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจเด็กออทิสติก เด็กพิเศษ จนมีทักษะความสามารถในการ สร้างงาน สร้างอาชีพ พึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน และบุคคลออทิสติก ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการหรือการเรียนรู้ ให้มีศักยภาพ มีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองและได้รับการยอมรับในสังคมอย่างเต็มภาคภูมิ โดยการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการนั้น นับว่าเป็นนโยบายสำคัญที่ตนตั้งใจจะขับเคลื่อนเพื่อยกระดับและพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาเป็นอันดับแรกอยู่แล้ว ซึ่งจากการรับฟังผลการดำเนินงานและหารือเกี่ยวกับแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการร่วมกันระหว่าง กศน.และมูลนิธิออทิสติก ในครั้งนี้นั้น ถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ยิ่งในการเดินหน้าผลักดันและส่งเสริมการศึกษาเพื่อผู้พิการ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นผลดีสำหรับผู้เรียนเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงพิจารณากรอบอัตรากำลัง และสร้างความมั่นคงให้แก่ครูสอนคนพิการ ที่ถือว่าเป็นกลุ่มครูที่ต้องมีทักษะพิเศษในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังเป็นข้อมูลสำคัญที่จะเป็นแนวทางในการจัดทำหลักสูตรเฉพาะ รวมถึงการพัฒนาครู พัฒนาสื่อการเรียนการสอนและ เทคโนโลยีเพื่อจัดทำระบบการช่วยเหลือผู้เรียน ของ กศน.ให้มีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพและเหมาะสมสำหรับผู้พิการต่อไป ซึ่งตนจะแต่งตั้ง “คณะทำงานพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษานอกระบบสำหรับบุคคลออทิสติก บุคคลที่บกพร่องทางสติปัญญาหรือการเรียนรู้” ขึ้น เพื่อวางแผนการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลออทิสติก บุคคลที่บกพร่องทางสติปัญญาหรือการเรียนรู้ อันจะเป็นประโยชน์และนำร่องสร้างแนวทางในการพัฒนาการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้สำหรับผู้พิการด้านอื่นๆต่อไปในอนาคต โดยในวันที่ 2 เมษายน 2563 นี้ ซึ่งเป็นวัน “รณรงค์ตระหนักรู้ออทิสติกโลก” เราจะได้ความชัดเจนในการขับเคลื่อนงานด้านนี้ ดังนั้นขอให้ครู กศน.และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันผลักดันและกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญ เข้าใจ และยอมรับบุคคลออทิสติก ส่งเสริมให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติที่สุด เพื่อสร้างมิติในความมั่นคงให้กับผู้เรียนและผู้สอน อะไรที่ทำได้ไว ตนจะเดินหน้าทำให้ทันที และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องผลักดันไปด้วยกัน คือ การส่งเสริมด้านสุขภาพจิต สำหรับคนทุกช่วงวัย ด้วยตระหนักถึงสภาพปัญหาปัจจุบันที่รุมเร้าในสังคม ไม่ว่าจะเป็นความหวาดกลัว วิตกกังวลกับการระบาดของโรคไวรัส การเผชิญหน้ากับสังคมของความไม่เท่าเทียม รวมถึงสังคม”บูลลี่”จนเกิดเป็นโรคซึมเศร้า ตามที่กำลังเป็นกระแสในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเรื่องนี้จะมีการหารือร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพจิต เพื่อเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อไป เพราะเด็กและเยาวชนทุกวันนี้มีทักษะชีวิตที่อ่อนไหว ซึ่งตนพร้อมที่จะก้าวไปพร้อมกับทุกท่าน และยินดีเป็นสื่อกลางในการประสานความร่วมมือทั้งเรื่องสาธารณสุขและการศึกษาไปด้วยกัน เพราะแน่นอนว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นอกจากนั้น ในส่วนของการการจัดกระบวนการเรียนรู้ของ กศน.และห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี นั้น อยากให้พัฒนาการจัดกิจกรรมที่เป็นการเรียนการสอนควบคู่กับศิลปวัฒนธรรมของพื้นที่โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนให้เกิดความหลากหลายเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ใช้บริการคนในชุมชน รวมถึงนักท่องเที่ยว โดยคงไว้ซึ่งคุณค่าที่เป็นอัตลักษณ์ และภูมิปัญญาชาวบ้านในท้องถิ่น ตามบริบทของชุมชน เช่น การประกวดเล่าเรื่องผ่านบทเพลง สุนทรพจน์หรือนิทาน การจัดรายการวิทยุออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นกุศโลบายให้เยาวชนได้อ่านค้นคว้า ศึกษาถึงประวัติ ภูมิหลังของชุมชนตนเองรวมทั้งเป็นการปลูกฝังให้ซึบซับและสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิดอีกด้วย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นบุคคลพิเศษ หรือบุคคลปกติ ตนเชื่อมั่นว่า ถ้าทุกภาคส่วนในสังคมให้โอกาส สร้างความเข้าใจ และมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของบุคคล ร่วมจับมือสนับสนุน สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ให้บุคคลในกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ ได้ดำเนินชีวิตอิสระในสังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ พวกเขาจะสามารถพัฒนาศักยภาพและพึ่งพาตนเองได้อย่างไร้ขีดจำกัดอย่างแน่นอน” ดร.กนกวรรณ กล่าว
สำหรับการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการ ของ กศน.เขตตลิ่งชันนั้น ได้บูรณาการความร่วมมือในการจัดการศึกษา ร่วมกับมูลนิธิออทิสติกไทย ซึ่งนับเป็นแนวร่วมภาคีเครือข่ายที่สำคัญยิ่งในการสร้างองค์ความรู้เพื่อเป็นต้นแบบ สำหรับการพัฒนา และส่งเสริมการจัดการศึกษาเพื่อผู้พิการโดยเฉพาะด้านออทิสติกในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มทักษะการเรียนรู้ และฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจเด็กออทิสติก โดยเด็กพิเศษที่จะเข้ามาเรียนได้ ต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป ทางมูลนิธิแบ่งการฝึกทักษะเป็น 2 ส่วน คือ ซอฟต์ สกิล (soft skill) และ ฮาร์ด สกิล (hard skill) และมูลนิธิแห่งนี้ ถือว่าเป็น “Social Enterprise หรือธุรกิจเพื่อสังคมของกลุ่มเด็กพิเศษและบุคคลออทิสติกแห่งแรกในไทย” ซึ่งโครงการนี้ต่อยอดมาจากการบำบัดและฟื้นฟูเด็กออทิสติกของมูลนิธิออทิสติกไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้ มีนักวิชาการระดับประเทศเข้ามาช่วย พัฒนา สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยเหลือเด็กออทิสติกในหลายๆด้าน มากว่า 11 ปี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ได้มีการจัดทำโครงการ Art Story ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดโดยนำผลงานจากความสามารถพิเศษของน้องๆมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย อาทิ หมวก แก้ว ผ้าพันคอ กระเป๋า เสื้อยืด สมุดทำมือ ฯลฯ เพื่อให้เกิดรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้เด็กและบุคคลออทิสติก ซึ่งนอกเหนือจากงานด้านศิลปะ โครงการ Art Story แล้ว มูลนิธิฯ ก็ยังมีการสนับสนุนทักษะด้านอื่นๆด้วย เช่น ร้านกาแฟ For All Coffee ที่บาริสต้าทั้งหมดเป็นเด็กออทิสติก รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาให้เล่นและจัดตั้งเป็นวงดนตรีไทย โดยเป็นน้องๆออทิสติกทั้งหมด สิ่งเหล่านี้จึงไม่เพียงแค่การทำให้เป็นเพียงสร้างความพิเศษแค่ผลงานของพวกเขา แต่ทำให้น้องๆเยาวชนเหล่านี้ได้สามารถสร้างรายได้และทำให้เด็กกับบุคคลออทิสติกมีชีวิตที่มั่นคงต่อไปอีกด้วย
ข่าว : เอื้อมพร สุมธาวัฒนะ , กรรณิกา พันธ์คลอง
ภาพ : ปรานี บุญยรัตน์ , ณัฐวุฒิ วากะดวน