(16 มีนาคม 2563) ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและให้กำลังใจนักเรียน และครูผู้บริหาร ณ โรงเรียนบ้านเด็กรามอินทรา (บ้านเด็กตาบอดผู้พิการซ้ำซ้อน) แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร พร้อมคณะทำงาน รมช.ศธ. โดยมี นายชัยณรงค์ ป้องบ้านเรือ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษา นายพงศ์ศักดิ์ เกษมสุวรรณ ประธานมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบุคลากรมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยร่วมให้การต้อนรับ
ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า “ ขอชื่นชม และขอให้กำลังใจผู้บริหาร และครูทุกท่านในการทุ่มเทเสียสละทำงาน จนเกิดคุณประโยชน์ต่อการศึกษาของชาติ รวมถึงสามารถช่วยแบ่งเบาการจัดการศึกษาของรัฐ โดยการดำเนินงาน ณ โรงเรียนแห่งนี้ถือว่าเป็นการสืบสานวัฒนธรรมแห่งการแบ่งปันในสังคมอย่างแท้จริง เพราะไม่เพียงแต่ให้การศึกษาแก่ผู้พิการเท่านั้น แต่จุดสำคัญในชีวิต คือการสร้างและเสริมทักษะชีวิตที่จำเป็นในการที่จะให้ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย ด้านสังคม อารมณ์ และจิตใจรวมไปถึงด้านภาษาและการสื่อสารได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการวางแผนระบบช่วยเหลือผู้เรียนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการประสานการทำงานด้านสาธารณสุขกับศูนย์บริการสาธารณสุข 24 บางเขน สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และการส่งต่อเพื่อรักษาพยาบาลไปยังโรงพยาบาลภูมิพล ที่มีการประสานความร่วมมือในการทำงานดูแลในด้านอนามัยและสุขภาวะของผู้เรียนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
วันนี้ตนมีความตั้งใจมาตรวจเยี่ยม เพื่อดูว่ามีอุปสรรคปัญหาในการดำเนินงานอย่างไร ที่จะช่วยเหลือสถานศึกษาให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเกิดประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์กับผู้เรียนให้มากที่สุด ซึ่งได้เห็นความตั้งใจที่จะผลักดันการจัดการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสให้น้องๆผู้พิการ และเห็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ซึ่งตนคาดหวังว่าจะเกิดมรรคผลที่ดีขึ้นกับผู้เรียน สามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต รวมทั้งการจัดการศึกษาด้านคนพิการที่จำเป็นจะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และความถนัดเฉพาะด้านของบุคลากรมาสร้างสรรค์และร่วมวางแผนการจัดการศึกษาให้เหมาะสมและตรงตามเป้าหมายให้มากที่สุด โดยในวันนี้ได้รับทราบอุปสรรคปัญหาในการดำเนินงานในหลายด้าน เช่น การขยายชั้นเรียนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อรองรับผู้เรียนที่ยังขาดความพร้อมในทักษะการเรียนรู้และการกลับไปอยู่กับครอบครัว ซึ่งตรงนี้ต้องประชุมหารือ พิจารณาข้อกฎหมายและองค์ประกอบอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการให้ใช้ได้ทั่วประเทศ เรื่องงบประมาณสนับสนุนเงินอุดหนุนเรียนฟรี 15 ปี /เงินอุดหนุนรายบุคคล เรื่องการขาดงบประมาณในการสนับสนุนด้านอุปโภค บริโภค และการผลิตสื่อการสอนที่ตรงตามความต้องการจำเป็นพิเศษของนักเรียนแต่ละบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการขอรับการสนับสนุนในด้านการพัฒนาครูผู้สอนนักเรียนพิการ เรื่องการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) เพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะจำเป็นสำหรับครูในการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) การสนับสนุนเรื่องอัตรากำลังและการอบรมพัฒนาครูที่มาสอนและดูแลผู้เรียนให้มีทักษะด้านการศึกษาพิเศษเฉพาะด้าน เนื่องจากปัจจุบันที่นี่มีครูการศึกษาพิเศษเพียง 4 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่ต้องได้รับการดูแลมากกว่าเด็กปกติ โดยตนได้รับไว้และได้สั่งการไปทางด้านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ให้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการเพื่อพิจารณาแนวทางในเรื่องดังกล่าวต่อไป ซึ่งตรงนี้ตนมีความมุ่งมั่นในการที่จะผลักดันให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับผู้พิการด้านต่างๆ อยู่แล้ว และยินดีสนับสนุนแนวทางรูปแบบวิธีการ รวมถึงจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการและความจำเป็นของผู้เรียนด้วยเทคนิควิธีการต่างๆให้เกิดประสิทธิภาพให้มากที่สุด” ดร.กนกวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
โรงเรียนบ้านเด็กรามอินทรา เป็นโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา ที่จัดการเรียนการสอนในลักษณะโรงเรียนการศึกษาพิเศษสำหรับคนตาบอดพิการซ้ำซ้อน โดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าใช้จ่ายใดๆ เป็นหนึ่งในหน่วยงานในสังกัดมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริม ช่วยเหลือผู้ที่มีความบกพร่องทางการเห็น ให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างราบรื่น และได้รับโอกาสพัฒนาในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยเปิดสอนในระดับเตรียมอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนจำนวน 81 คน ครู 43 คน นักเรียนร้อยละ 95 เป็นนักเรียนที่อยู่ประจำ และร้อยละ 5 เป็นนักเรียนไป-กลับ
สำหรับการดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาพิเศษของโรงเรียนเอกชนในระยะต่อไป คือ การให้องค์ความรู้ด้านการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนพิการแต่ละประเภท การส่งเสริมการสร้างงานและอาชีพให้กับนักเรียนพิการ การดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ การจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนพิการในโรงเรียนเรียนร่วม การเพิ่มศักยภาพของบุคลากรและการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานของคณะทำงานเครือข่ายการศึกษาพิเศษของโรงเรียนเอกชนประจำจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรับการมอบอำนาจจากศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด การทบทวนกฎ ระเบียบเกี่ยวกับการอุดหนุนโรงเรียน นักเรียนและครู ให้เทียบเท่าโรงเรียนภาครัฐ รวมทั้งการสำรวจความต้องการสื่อการเรียนการสอนเฉพาะความพิการและพิจารณาให้การอุดหนุนแก่โรงเรียนการศึกษาพิเศษ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนพิการแต่ละประเภท
สำหรับมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการศึกษาสำหรับคนตาบอดและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตาบอด ให้คนตาบอดดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ปัจจุบันมูลนิธิมีหน่วยงานในสังกัด 29 หน่วย ประกอบด้วย สำนักงานใหญ่ สำนักงานสาขา 10 หน่วย โรงเรียนการศึกษาคนตาบอด 10 หน่วย และศูนย์สนับสนุนการศึกษาสำหรับคนตาบอดด้านอื่นๆอีก 8 หน่วย ทั่วประเทศ
ข่าว : เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ กรรณิกา พันธ์คลอง
ภาพ : ปรานี บุญยรัตน์ ณัฐวุฒิ วากะดวน