วันที่ 2 เมษายน 2563 เวลา 13.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายศุภชัย ใจสมุทร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และนายภราดร ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้มีการตรวจสอบเรื่อง การตรวจสอบและการประเมินชุดตรวจ อย่างง่าย (Rapid Test) สำหรับ COVID-19 ที่ผ่านการประเมินจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการกระทำอันเป็นการเว้นและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และมีการทุจริตในกรณีนี้หรือไม่
นายศุภชัย กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีที่สื่อมวลชน นำเสนอข่าวบริษัทเอ็มพี เมดกรุ๊ป จำกัด ขอแจ้งยกเลิกใบอนุญาตการนำเข้าสินค้า Rapid Test สำหรับตรวจหาเชื้อโรค COVID-19 ยี่ห้อ Bioeasy ซึ่งผลิตโดยบริษัท Shenzhen Bioeasy Technology จำกัด ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน กับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แล้ว ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2563 เนื่องด้วยพบรายงานเรื่องปัญหาคุณภาพด้านการแปรผลที่ราชอาณาจักรสเปน และสหภาพยุโรป ทั้งที่ชุดตรวจดังกล่าวผ่านการประเมินผลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้นำมาใช้ในประเทศไทยได้เพียงแค่ 4 วันเท่านั้น
นอกจากนี้ จากการแถลงข่าวของ ดร.บุศราวรรณ ศรีวรรธนะ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาและประเมินชุดทดสอบทางน้ำเหลืองวิทยา สำหรับโรคโคโรนา 2019 ทำให้ทราบว่าการพิจารณาและประเมินชุดทดสอบดังกล่าวนี้ ใช้วิธีการพิจารณาจากเอกสารที่บริษัทผู้ยื่นขออนุญาตนำส่งเอกสารมาให้พิจารณาเท่านั้น ไม่มีการทดสอบในห้องปฏิบัติการ จึงมีเหตุอันควรสงสัยและต้องมีการสอบสวนให้ได้ความจริงปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่า บริษัทผู้ยื่นขออนุญาตนำเข้าชุดทดสอบ ได้นำเสนอเอกสารเข้ารับการพิจารณาและประเมิน อย่างถูกต้อง ครบถ้วน ตรงตามข้อมูลทางวิชาการ และเป็นไปตามมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์หรือไม่ มีการปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของคณะกรรมการพิจารณาและประเมินชุดทดสอบ ตลอดจนบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือกลุ่มบุคคลหนึ่งกลุ่มบุคคลใด ชี้นำ บังคับ สั่งการ ให้คณะกรรมการฯ พิจารณาและประเมินว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีคุณภาพ อนุญาตให้นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ และต้องยกเลิกการนำอนุญาตนำเข้า ในเวลาเพียง 4 วัน เท่านั้น
“ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย ได้ติดตามการดำเนินการในกรณีนี้ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และ บริษัทเอกชน ผู้ยื่นขออนุญาตและยื่นเอกสารประกอบการพิจารณาและประเมิน ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่ามีบริษัทเครือข่ายของอดีตนักการเมือง เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ได้รับอนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ มาจำหน่ายด้วย กรณีนี้จึงได้รับความสนใจจากประชาชนมากเป็นพิเศษ จึงขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้กรุณาตรวจสอบการดำเนินการในกรณีนี้ และนำผู้กระทำความผิดทั้งในฐานะตัวการและผู้สนับสนุน มาลงโทษตามกฎหมายต่อไป”นายศุภชัย กล่าว