หน้าแรก news เสมา 3 สนองพระราชปณิธานในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯเพื่อส่งเสริมการพัฒนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

เสมา 3 สนองพระราชปณิธานในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯเพื่อส่งเสริมการพัฒนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

0
เสมา 3 สนองพระราชปณิธานในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯเพื่อส่งเสริมการพัฒนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
Sharing

( 13 เมษายน 2563 ) ตามที่ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการโครงการส่งเสริมการพัฒนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้มีคุณภาพ แผนระยะ 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2567) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ไปแล้วนั้น ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงโครงการฯ ดังกล่าวว่า “ตนมั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ เป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ให้ได้รับการศึกษาที่ดีเทียบเท่าสถานศึกษาอื่น ๆ ได้ครอบคลุม ซึ่งนอกจากการพัฒนาด้านโครงสร้างทางกายภาพของสถานศึกษา การจัดซื้อครุภัณฑ์เพื่อการจัดการเรียนการสอนและการฝึกอาชีพแล้ว การพัฒนาศักยภาพด้านวิชาการและการพัฒนาผู้เรียนก็มีความจําเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งตนได้ย้ำและมอบนโยบายให้สถานศึกษานำเทคนิคและเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประกอบการเรียนการสอน เพื่อสนองต่อความแตกต่างของผู้เรียน และให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของข่าวสารความรู้ด้านต่างๆ ในปัจจุบัน ในการช่วยกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้ของผู้เรียนให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านวิชาการหรือทักษะชีวิตและฝึกอาชีพ ซึ่งสภาพการเรียนการสอนของสถานศึกษาในโรงเรียนพหุวัฒนธรรม ในด้านความสามารถและวัฒนธรรมต่างกันของผู้เรียน จะส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความสําคัญของการพัฒนาหลักสูตร เทคนิคการเรียนการสอนโดยใช้สื่อประเภทต่างๆ ที่สามารถช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความสามารถและวัฒนธรรมของแต่ละบุคคล ดังนั้นขอให้ผู้บริหารและข้าราชการทุกท่านร่วมมือร่วมใจปฏิบัติหน้าที่เพื่อสนองพระราชปณิธานในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการพัฒนาการศึกษาให้ไปถึงลูกหลานของเราอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพให้มากที่สุด อันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่มีคุณภาพดีขึ้นอย่างแน่นอน ” ดร.กนกวรรณ กล่าว

โครงการส่งเสริมการพัฒนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นโครงการที่ดำเนินงานโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาการดำเนินงานของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 16 แห่ง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้รับการอุดหนุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างด้านกายภาพ สื่ออุปกรณ์การเรียนการสอนเป็นกรณีพิเศษตามหลักเกณฑ์ของประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพเช่นเดียวกับสถานศึกษาอื่น ๆ เป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ให้ได้รับการศึกษาที่ดี ทั้งความรู้ด้านศาสนาอิสลามที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามในท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ในวิชาสามัญและการฝึกทักษะอาชีพ อันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยในส่วนของการดำเนินโครงการนั้น สช. ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา ดังนั้นเพื่อให้โครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและเป็นต้นแบบให้แก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป กระทรวงศึกษาธิการ จึงขออนุมัติหลักการโครงการฯ แผนระยะ 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2567) ในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 245.239 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) งบลงทุน 185.019 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาโครงสร้างด้านกายภาพของโรงเรียน ได้แก่ การก่อสร้าง/ปรับปรุงอาคารเรียน อาคารหอพักนักเรียน อาคารฝึกอาชีพ รวมทั้งการจัดซื้อครุภัณฑ์เพื่อการจัดการเรียนการสอนและการฝึกอาชีพ และ (2) งบรายจ่ายอื่น 60.220 ล้านบาท (ประมาณปีละ 12.044 ล้านบาท) เพื่อจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพด้านวิชาการและการพัฒนาผู้เรียน

สำหรับการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ดำเนินการโดยยึดหลักการดำเนินงาน ดังนี้ 1) การพึ่งพาตนเอง โดยเน้นให้ทุกคนได้ช่วยเหลือตนเองก่อนเป็นอันดับแรก เช่น การให้เมล็ดพันธุ์พืชผัก พันธุ์สัตว์ เพื่อผลิตอาหารไว้บริโภคเอง แทนที่จะให้อาหารโดยตรง สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ต่อไป 2) การมีส่วนร่วม เน้นให้ผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากการทำโครงการได้มีส่วนในการช่วยคิด ช่วยทำ การที่ผู้ปกครองและเด็กจัดเวรในการประกอบอาหารกลางวัน ซึ่งมีผลทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความรู้สึกเป็นเจ้าของได้เรียนรู้และเข้าใจในกิจกรรมที่ทำอยู่ 3) การพัฒนาแบบองค์รวมโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ โดยเน้นการพัฒนาในทุกๆ ด้านไป พร้อมๆ กัน นอกจากนี้กลุ่มเป้าหมายจะต้องได้รับความรู้จากกิจกรรมที่ทำ และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตต่อไปได้ เช่น โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหาร มีการดำเนินกิจกรรมให้ความรู้ด้านเกษตรกรรมและกลุ่มเป้าหมายได้ปฏิบัติจริงทั้งการปลูกและประกอบอาหาร นอกจากนี้ยังมีการสอดแทรกหลักสูตรสหกรณ์ในการผลิต เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มผลิตและจำหน่ายผลผลิตที่เหลือ ผลที่ได้นอกจากจะมีอาหารรับประทานแล้ว ยังเกิดการรวมกลุ่มกันทำงาน และมีรายได้เสริม 4) พัฒนาระบบประสานงานความร่วมมือจากทุกส่วน ในการช่วยเหลือ จากภาครัฐบาลและภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ มีการจัดทำแผนงานหลักของโครงการทุกๆ ระยะ เพื่อให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นแนวทางทำให้งานต่างๆ มีความก้าวหน้าไปอย่างมีประสิทธิภาพ 5) พัฒนาผู้ปฏิบัติงานให้มีความรู้และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยมีการอบรม การประชุมสัมมนา การศึกษาดูงาน เพื่อให้ความรู้และเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ปฏิบัติงานโครงการเป็นประจำ รวมทั้งมีการประเมินและรายงานผลการดำเนินงานเป็นระยะ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทราบถึงความก้าวหน้าของโครงการ และสามารถนำไปปรับปรุงการดำเนินงานได้ 6) ยึดหลักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น กิจกรรมการพัฒนาต่างๆ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนำภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้

นอกจากนี้การดำเนินงานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริในถิ่นทุรกันดาร ยึดหลักการอนุรักษ์วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมที่ดีงามของท้องถิ่น โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 6 ด้านใหญ่ๆ คือ ด้านการพัฒนาเด็ก
และเยาวชน ด้านงานนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ และทุนพระราชทานเพื่อการศึกษา ด้านการพัฒนาอาชีพ ด้านการพัฒนาพื้นที่แบบบูรณาการ ด้านพระราชทานพระราชานุเคราะห์ และด้านความร่วมมือระดับนานาชาติ
ซึ่งในปัจจุบันการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนมีจำนวน 20 แห่ง ดังนี้
1. โรงเรียนเอกชนในโครงการตามพระราชดำริที่อยู่ใน มติ ครม. จำนวน 16 โรงเรียน ได้แก่
1.1 โรงเรียนจรรยาอิสลาม อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
1.2 โรงเรียนอิบตีดาวิทยา อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส
1.3 โรงเรียนนิรันดรวิทยา อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
1.4 โรงเรียนต้นตันหยง อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส
1.5 โรงเรียนอัตเตาฟีกียะห์อิสลามมียะห์ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
1.6 โรงเรียนดารุลฮิกมะห์ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
1.7 โรงเรียนอิสลามบูรพาวิทยาอำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
1.8 โรงเรียนศาสน์อิสลาม อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
1.9 โรงเรียนธรรมพิทยาคาร อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี
1.10 โรงเรียนบากงวิทยา อำเภอหนอกจิก จังหวัดปัตตานี
1.11 โรงเรียนพีระยานาวินคลองหินวิทยา อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
1.12 โรงเรียนบ้านกูวิง อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี(โรงเรียนนอกระบบ ประเภทสอนศาสนา)
1.13 โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา
1.14 สถาบันศึกษาปอเนาะอิสลามศาสน์ดารุสสาลาม อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
1.15 โรงเรียนส่งเสริมอิสลาม อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา
1.16. โรงเรียนธรรมคีรีวิทยา อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา

2. โรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา 1 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนอนุกูลวิทยา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

3. โรงเรียนที่ทรงรับเข้าร่วมหลังการเสนอขอมติ ครม. จำนวน 3 แห่ง ได้แก่
3.1 โรงเรียนนราวิทย์อิสลาม อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส
3.2 โรงเรียนสมานมิตรวิทยา อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส
3.3 โรงเรียนดาราวิทยา อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส

 

ข่าว : กรรณิกา พันธ์คลอง
ภาพ : เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่