(22 เมษายน 2563) ตามที่ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ สำนักงาน กศน.และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เดินหน้าปรับแผนการเรียนรู้ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 โดยนำการเรียนในรูปแบบการศึกษาออนไลน์ มาเป็นอีกช่องทางสำคัญในการบริหารจัดการเรียนรู้ และเสริมทักษะความรู้ให้กับผู้เรียนถึงบ้าน นับตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศปิดสถานศึกษาทั่วประเทศ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ เพื่อเป็นการปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาด “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ไปแล้วนั้นพบว่ามีผู้สนใจเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมากเพราะการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยการศึกษาไม่หยุดชะงัก ทดแทนการเรียนในห้องเรียนได้ นับเป็นทางออกที่สอดรับกับสถานการณ์ ช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าเรียนได้ตามปกติและไม่เสียโอกาสในการเตรียมพร้อมสำหรับการศึกษาในชั้นเรียนใหม่ รวมทั้งการพัฒนาทักษะความรู้ได้อย่างต่อเนื่องในขณะที่ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว โดยไม่จำเป็นต้องออกจากบ้าน “เรียนฟรีที่บ้าน ปลอดภัย ได้ความรู้” เพราะ “โรงเรียนหยุด ความรู้ไม่หยุด”
ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า “ ตนได้มอบนโยบาย ให้สำนักงาน กศน. โดยศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา (ETV.) ผลิตรายการโทรทัศน์และวิทยุเพื่อการศึกษา เพื่อตอบโจทย์การจัดศึกษาตลอดชีวิต สำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัย ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐานตามหลักสูตร และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อเสริมทักษะต่างๆสำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็น รายการ ETV ติวเข้มออนไลน์ โดยได้คัดสรรครูที่มากความสามารถและติวเตอร์ระดับประเทศ มาสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้ความรู้ในทุกสาระวิชา รายการภาษาเพื่ออาชีพ รายการเพื่อผู้สูงอายุ รายการเสริมทักษะสำหรับผู้พิการ รายการทักษะอาชีพดิจิทัล เป็นต้น โดยได้คัดสรรส่งตรงถึงบ้าน ผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) รวมทั้ง ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ http://www.etvthai.tv. YouTube ช่อง “ETV ติวเข้มออนไลน์”, Facebook “ETV สื่อดิจิทัลเพื่อการศึกษา”, LINE Official Account “ETV สื่อดิจิทัล” เป็นต้น ส่วน สช.ได้เปิดตัวโครงการเรียนรู้ในระบบออนไลน์ ด้วยระบบดิจิทัล สช. ที่รวมการเรียนการสอนออนไลน์ของ 7 สถานศึกษาเอกชน ทั้งแบบออนไลน์ Real time และบันทึกเทป VDO มีเนื้อหาครอบคลุม ตั้งแต่ ป.1-ม.6 ในทุกกลุ่มสาระวิชา โดยสามารถเข้าเว็บไซต์ศูนย์การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล สช. ได้ 2 ช่องทาง คือ ใช้บริการผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) (www.opec.go.th) เลือกหัวข้อ ศูนย์การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล สช. (https://odlc.opec.go.th/) หรือสามารถเข้าใช้บริการได้ที่หน้าเว็บไซต์ศูนย์การเรียนรู้ด้วยระบบดิจิทัล สช. โดยตรงที่ URL https://odlc.opec.go.th/ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นมา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ดร.กนกวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งใจเดินหน้าเพื่อส่งต่อความรู้และทักษะต่างๆไปสู่ผู้เรียนอย่างเต็มที่ เพื่อให้เราผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยคำนึงประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ ตลอดจนจะเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นในอนาคต ซึ่งในปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการเรียนการสอน จะเห็นได้จากคุณครูเราได้นำการจัดการเรียนการสอนออนไลน์โดยใช้ Google Classroom รูปแบบหนึ่ง มาช่วยในการสอนในหลายๆขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการสอน การวัดประเมินผล การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่างๆด้วยการส่งงานและแบบฝึกหัด เป็นต้น ตลอดจนให้คำปรึกษาและแนะนำด้วย ซึ่งจัดทำเป็นคลิปในหลายๆรูปแบบประกอบการเรียนการสอน และตอนนี้ตนได้ให้สถาบันการศึกษาทางไกล ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักงาน กศน.ที่มีบทบาทหน้าที่ในการจัดและส่งเสริมการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาต่อเนื่องด้วยวิธีทางไกล วางแผน พัฒนารูปแบบกระบวนการเรียนรู้ออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่น และช่องทางอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้มีความน่าสนใจ เพื่ออำนวยความสะดวกและง่ายต่อการเรียนรู้ เพราะเรามีเป้าหมายที่จะให้ประชาชนได้เข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง เนื่องจากการศึกษาไม่เพียงแต่ทำให้เด็กมีความรู้ ทักษะ และความสามารถเท่านั้น แต่จะต้องสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างแท้จริงทุกช่วงวัย ซี่งกระทรวงศึกษาธิการ จะพยายามคัดสรรความรู้ เทคนิค วิธีการเรียนรู้ ที่สามารถเรียนอย่างปลอดภัย ได้ความรู้ อย่างมีความสุขที่บ้าน ส่งตรงถึงผู้เรียน ทั้งนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ผู้สูงอายุและผู้พิการ จะได้ทบทวน ฝึกฝน และเพิ่มพูนทักษะการเรียนทั้งตามหลักสูตร และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลาให้มากที่สุด จึงขอให้ผู้เรียนทุกคนเรียนรู้อย่างมีความสุข เพราะการศึกษาจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญ และจำเป็นสำหรับผู้คนทุกวัย ที่จะช่วยยกระดับและเพิ่มพูนทักษะต่างๆในชีวิต ท้ายที่สุดนี้ขอขอบคุณ ผู้บริหาร คุณครูและบุคลากรทุกท่าน ในสังกัด สช. และสำนักงาน กศน.ทั่วประเทศ ที่ให้ความร่วมมือร่วมใจขับเคลื่อนการจัดการศึกษาออนไลน์ ซึ่งเป็นตามนโยบายที่มีความสอดคล้องกับการพัฒนาการศึกษาและสภาวการณ์ปัจจุบัน จนเกิดความก้าวหน้าตามลำดับ และคาดว่าความมุ่งมั่นตั้งใจของทุกท่านจะสามารถผลักดันพัฒนาให้มีประสิทธิภาพรองรับการศึกษาในทุกมิติต่อไปในอนาคต ” รมช.ศธ. กล่าวทิ้งท้าย
ข่าว : เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ กรรณิกา พันธ์คลอง
ภาพ : ปรานี บุญยรัตน์
วิดิโอ : ณัฐวุฒิ วากะดวน