หน้าแรก Top เล่นตามกติกา ปิดประตูนายกฯคนนอก

เล่นตามกติกา ปิดประตูนายกฯคนนอก

0
เล่นตามกติกา ปิดประตูนายกฯคนนอก
Sharing

นายกฯคนนอก นายกฯคนใน กำลังเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนให้ความสนใจ ไปจนถึงการจัดประเภทว่าฝ่ายไหน อยู่ข้างใคร บางสื่อไปไกล ถึงขั้นฟันธงไปแล้วว่า “บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาแน่นอน

ต้องยอมรับว่า เรื่องอนาคตนายกรัฐมนตรีไทย เป็นประเด็นน่าสนใจ ว่าใครจะมาวิน

การเกิดขึ้นของนายกฯคนนอก หากทวนจากอดีต ที่ผ่านมา มี 4 คน ดังนี้

1. ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พลิกบทบาทจากหัวหน้าเสรีไทย ขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยมติสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนกันยายน 2488

คนที่ 2 พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ขณะยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ด้วยการ “หยั่งเสียง” ของสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่ง หลังจาก พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ลาออก

คนที่ 3 พล.อ. สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ถือเป็น “คนนอก” ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วย “อุบัติเหตุ” ทางการเมือง และลั่นวาจา “เสียสัตย์เพื่อชาติ” หลังนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ชนะการเลือกตั้ง แต่สะดุดเก้าอี้เพราะบัญชีดำจากทางการสหรัฐฯ เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด ทำให้ พล.อ. สุจินดา ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และเป็นหนึ่งในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ยึดอำนาจจาก พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เป็นนายกฯ

คนที่ 4 นายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี หลังคณะ รสช. ยึดอำนาจ 2 สมัย สมัยแรกได้รับเชิญจากคณะรัฐประหาร สมัยที่ 2 ได้รับเชิญจากประธานรัฐสภา

นายกฯ คนนอกเกือบทั้งหมด มักได้โอกาสผ่านนักการเมืองบางกลุ่ม หรือนายทหารบางกลุ่ม ที่มีอำนาจ และตัดสินใจเร็วกว่าไปเชิญมา หาได้ฟังเสียงของนักการเมือง หรือทหารกลุ่มอื่น เพียงแต่ชั่งใจแล้วว่าสังคมยอมรับได้ ขอให้เป็นคนประวัติสะอาด น่าจะเป็นผู้นำขัดตาทัพ พาบ้านเมืองไปข้างหน้า ก็เท่ากับมีคุณสมบัติครบถ้วน

จะมีแต่พลเอกสุจินดาเท่านั้น ที่เป็นนายกฯคนนอก “ส้มหล่น”

อย่างไรก็ตาม มาถึงปัจจุบัน การเข้ามาของนายกฯคนนอก จะใช้คนเพียงหยิบมือไปเชิญมาเช่นแต่ก่อน คงสำเร็จยากโข ด้วยการเข้ามานั้น ต้องผ่านการรู้เห็นจาก ส.ส.- ส.ว. และประชาชนทั้งประเทศ

ด้วยหากอ่านจากรัฐธรรมนูญ การเข้ามาเป็นนายกฯ คนนอก 1. ต้องลุ้นให้ ส.ส. ส.ว. คุยกันไม่รู้เรื่อง โหวตชื่อนายกรัฐมนตรี ในบัญชีรายชื่อไม่ได้ ไม่มีใครได้เสียงถึง 376 เสียง และ 2. เมื่อโอกาสมาถึง ได้รับการเสนอชื่อโดยใครก็ตาม ต้องลุ้นให้ได้เสียงในสภา 500 เสียง จาก 750 เสียงขึ้นไป

เท่ากับว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนของประชาชนทั้ง 500 คน

คือตัวแปรที่สำคัญที่สุด หาใช่คนไม่กี่คน กลุ่มไม่กี่กลุ่มเช่นในอดีต

ดังนั้น เมื่อเกมอยู่ในมือ ส.ส.จึงมีเพียงความวุ่นวายสุดหยั่งถึงของผู้แทนราษฎรไทยเท่านั้น ที่จะเปิดโอกาสให้มีนายกฯคนนอก

คนหนึ่งที่ตีโจทย์แตก คือนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ขอให้ทุกฝ่ายมี “สปีริต” ทางการเมือง

“พรรคอันดับ 1 ต้องได้รับโอกาสจัดตั้งรัฐบาลก่อน และพรรคอันดับรองลงมาต้องรู้จักถอย ครั้งหนึ่งพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค พ่ายแพ้ต่อพรรคคู่แข่งเพียงไม่กี่เสียง ได้ตัดสินใจ ไม่ตั้งรัฐบาลแข่งบ้านเมือง เดินหน้าต่อไปได้ นี่คือความน่านับถือ”

หากถอดจากถ้อยคำของ “เสี่ยหนู” นี่คือสิ่งที่นักประชาธิปไตย ที่มีโอกาสได้ทำงานในฐานะตัวแทนของประชาชนควรพิจารณา

เพราะเมื่อไรก็ตาม หากผู้แทนปวงชนมีสปีริต รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย

“คนนอก” ย่อมฝ่าเข้ามาไม่ได้

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่