(3 ธันวาคม 2564) นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการอบรม“การพัฒนาทักษะ ครู กศน.ต้นแบบการสนทนาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร” ประจำปี 2564 พร้อมด้วย นายกมลรอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช. ศธ. นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. (ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรมช.ศธ.) โดยมีนางสาวทรงศรี วิระรังษิยากรณ์ รองเลขาธิการ กศน. ผู้บริหาร ครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงาน กศน. ให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุม ณ โรงแรม เดอ ไพรม์ แอท รางน้ำ กรุงเทพฯ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การอบรมพัฒนาทักษะ ครู กศน.ต้นแบบการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในวันนี้ นับเป็นการเปิดตัวการพัฒนาหลักสูตรการสอนที่มีความ WOW ในอีกรูปแบบหนึ่ง ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษยุคดิจิทัลส่งถึงครูผู้สอนและผู้ที่สนใจ ซึ่งการอบรมพัฒนาทักษะครู กศน.ต้นแบบฯในปีนี้ ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการขยายผลเพื่อการพัฒนาครู สังกัดสำนักงาน กศน. อย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายที่มีเป้าหมายในการพัฒนาครู กศน. ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ : Good Teacher ให้มีสมรรถนะ เพิ่มทักษะความสามารถ (Up Skill) การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ (Re SKIl) สำหรับข้าราชการครู กศน.ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการในกลุ่มวิชาภาษาอังกฤษ ให้สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้ในพื้นที่จริงผ่านหลักสูตรที่ได้รับการรับรองคุณภาพ และขอชื่นชมผู้จัดการอบรมที่มีความมุ่งมั่นในการจัดทำ และพัฒนาหลักสูตรรวมทั้งคณะวิทยากรในการร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ และประสบการณ์ตรงในการอบรมนี้ เชื่อมั่นว่าครูทุกคนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าอบรม ย่อมเป็นเครื่องแสดงถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจและความรับผิดชอบในฐานะครูที่มีต่อวิชาชีพของตนต้องเพิ่มทักษะให้มีความรอบรู้ มีศักยภาพ พร้อมพัฒนางานในหน้าที่ให้บรรลุความสำเร็จ สามารถนำความรู้เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ และพัฒนาวิธีการจัดการเรียนรู้ทางด้านภาษาอังกฤษ สามารถเป็นต้นแบบและถ่ายทอดขยายผลแก่ผู้ร่วมวิชาชีพ รวมทั้งสามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักศึกษา กศน. ต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ
“ดิฉันมีความมุ่งหวังอยากเห็นคนไทยสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี เพราะในปัจจุบันต้องยอมรับว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สำคัญมาก ควรที่จะสื่อสารให้ได้ก่อนที่จะไปศึกษาไวยากรณ์ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการนั้นเน้นให้ผู้เรียนมีความสุข และสนุกไปกับสิ่งที่เรียนรู้ ที่สำคัญช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายไม่ต้องเดินทางไปศึกษาที่ต่างประเทศ ในส่วนของสำนัก กศน. ต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้ครู กศน. ไม่ค่อยมีการบรรจุเอกภาษาอังกฤษ เมื่อได้มารับตำแหน่งจึงผลักดันให้มีการสอบครูผู้ช่วยเอกภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น ผสมผสานกับครูที่ไม่ได้จบเอกภาษาอังกฤษมาพัฒนาร่วมกันให้สามารถสื่อสารได้ดี สอนนักศึกษาตลอดจนผู้ที่สนใจทุกช่วงวัยให้สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีในชีวิตประจำวัน เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดอาชีพ สร้างความมั่นใจ และความสุขให้กับตนเอง ดังนั้นครูของเราที่มีอยู่ในทุกที่ของประเทศไทยจะเป็นครูพันธุ์พิเศษ สามารถสร้างความไว้วางใจ สร้างสื่อการเรียนการสอน จัดการศึกษาให้แก่ประชาชนทุกช่วงวัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจวบจนกระทั่งเสียชีวิตได้”
รองเลขาธิการ กศน. เปิดเผยภายหลังว่า สำหรับการอบรมฯ ในครั้งนี้ นับว่าเป็นโครงการสำคัญตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของนางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์รมช.ศึกษาธิการ ที่มีนโยบายในการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู เพื่อให้มีสมรรถนะทางภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษและทักษะด้านดิจิทัล สามารถปรับวิธีการเรียนการสอนและการใช้สื่อทันสมัย มีความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ทางการศึกษาที่เกิดกับผู้เรียน ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 สำนักงาน กศน.โดยกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ได้จัดทำพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาทักษะและสมรรถะครู กศน. ด้านการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และได้รับการรับรองหลักสูตรจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(สำนักงาน ก.ค.ศ.) ที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่ต้องการให้คนไทยในอนาคตมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 มีทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษและภาษาที่ 3 และมีคุณธรรม ซึ่งมีเนื้อหาประกอบด้วยมาตรฐานในการวัดประเมินผลต่าง ๆ ที่ครอบคลุมการจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบการจัดการเรียนรู้, กระบวนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning, Aspire to Inspire ภาษาอังกฤษยุคดิจิทัล, การจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการ PLC และการนำเสนอผลงานการออกแบบ การสาธิตการจัดการเรียนรู้
โดยมีคณะวิทยากรที่มีความสามารถจาก คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และวิทยากรชั้นนำระดับประเทศ คุณคริสโตเฟอร์ ไรท์ มาถ่ายทอดความรู้แก่ครูกศน. ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาในรายวิชาภาษาอังกฤษ ใช้ในการสื่อสารได้จริงในชีวิตประจำวันแล้ว ยังสามารถนำไปสู่การพัฒนาด้านต่าง ๆ เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศชาติให้สามารถแข่งขันกับนานาอารยประเทศได้ต่อไป