“นโยบาย ภาษีบ้านเกิดเมืองนอน เป็นนโยบายกระจายงบประมาณ กระจายเงินลงสู่ท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเราจะแก้ไขกฎหมาย ให้ประชาชน และบริษัท ห้าง ร้านต่างๆ ที่เป็นผู้เสียภาษี มีสิทธิที่จะกำหนดได้ว่า ภาษีที่ชำระทุกปีนั้น ผู้เสียภาษี ต้องการจะให้นำไปพัฒนาที่จังหวัดใด อำเภอใด ตำบลใด เราเรียกภาษีนี้ว่า ภาษีบ้านเกิดเมืองนอน”
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวขึ้นระหว่างการเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ที่จังหวัดกระบี่
“เงินภาษีของท่าน ต้องได้พัฒนาบ้านของท่าน” นายอนุทิน พูดย้ำ และเสียงปรบมือดังลั่น
ภาษีบ้านเกิด เมืองนอน คือ นโยบายใหม่เอี่ยมเพื่อใช้สำหรับสู้ศึกเลือกตั้งสมัยหน้า จากอดีต ที่ประชาชนไม่รู้เลยว่า เงินที่จ่ายไปเป็นภาษีนั้น จะถูกเอาไปใช้อะไรบ้าง ซึ่งพรรคภูมิใจไทย จะคืนสิทธิ์ ในการเลือกให้ประชาชน ด้วยการให้ผู้จ่ายภาษีได้เลือกว่า จะเอาภาษีนั้น ไปพัฒนาจังหวัดไหน ในอัตราส่วนไม่เกิน 30% ของภาษีที่แต่ละคนต้องจ่าย
นี่คือไอเดียที่ต่อยอดมาจาก “ภาษีบ้านเกิด” (Hometown Tax) ของญี่ปุ่นที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2008 และได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเลือกได้ว่า จะส่งเงินภาษีให้กลับจังหวัดไหนแล้ว ยังจะได้รับของตอบแทนจากการเสียภาษี เป็นของดี จังหวัดนั้นๆ
เรื่องของเรื่องคือ นับตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา ปรากฏว่า ประชาชนชาวญี่ปุ่นนั้น ได้เข้ามาหางานทำ ตั้งรกรากกันในเมืองใหญ่ๆ กันอย่างมากมาย ทำให้เมืองที่อยู่ไกลออกไป ประสบปัญหากับการจัดเก็บภาษีท้องถิ่น ได้ในจำนวนน้อยนิด ชนิดที่ไม่พอจะจัดหาบริการสาธารณะให้ประชาชน สวนทางกับบางเมืองที่ แม้จะเป็นเมืองขนาดเล็ก แต่กับเก็บภาษีได้มากมายมหาศาล ปัญหานี้ สร้างความเหลื่อมล้ำให้กับประเทศญี่ปุ่นอย่างมาก
โมเดลการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจึงเกิดขึ้น ซึ่งไม่เพียงเป็นการเพิ่มงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มความเป็นอิสระทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากขึ้นอีกด้วย
แน่นอนว่า ไม่จำเป็นที่ผู้จ่ายภาษี จะต้องจ่ายภาษีให้แต่จังหวัดบ้านเกิด แต่ยังสามารถเลือกจ่ายไปยังพื้นที่อื่นอีกด้วย
ยกกรณีที่น่าสนใจ เช่น เมื่อตอนเกิดอุทกภัย-ดินถล่มฉับพลันหลังเหตุแผ่นดินไหวที่ เมืองคุมาโมโตะ จ.คุมาโมโตะ พบปัญหาความช่วยเหลือผ่านหน่วยงานราชการ ต้องใช้เวลาพิจารณาหลายขั้นตอนกว่าจะได้เงิน ท้องถิ่นจึงระดมเงินทุนช่วยเหลือเพิ่มเติม และได้รับเงินจาก “ภาษีบ้านเกิด” มากกว่า 570 ล้านเยน
เปรียบกับประเทศไทย หากนโยบายนี้ สำเร็จ เราจะเห็นเมืองรอง จังหวัดทางผ่านทั้งหลาย อาทิ พิจิตร, ชัยภูมิ, อ่างทอง, ระนอง เจริญขึ้นแบบผิดหู ผิดตา เนื่องจากชาวบ้าน ที่แยกย้าย จำใจจากบ้าน ไปหาเงิน หาโอกาส ทำงานในเมืองใหญ่ จะได้ส่งเงินภาษีกลับมาดูแลบ้านเกิดอย่างเต็มที่ เป็นการปลุกสำนึกรักบ้านเกิดภาคปฏิบัติ ที่ทุกคนทำได้ง่ายๆ
และนี่คือที่มาของภาษีบ้านเกิดเมืองนอน ที่พรรคภูมิใจไทย ใช้ประกาศหาเสียง เรียกเสียง “ว้าวววว” จากประชาชน