จากกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งตั้งนายสนธยา คุณปลื้ม เป็นที่ปรึกษาฯ ด้านการเมืองของนายกรัฐมนตรี ขณะที่นายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการประจำสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า สิ่งที่น่าสนใจคือนับจากนี้ จะยังมีพรรคพลังชลอยู่หรือไม่ เพราะเข้าร่วมกันชัดเจนแบบนี้ ก็อาจจะไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ต้องยอมรับว่า คสช. เดินเกมอย่างชาญฉลาด เพราะ หากปล่อยให้กลุ่มพลังชล สู้กับเพื่อไทยในพื้นที่ มีความเป็นไปได้ว่า ปชป. จะกลับมาได้ ส.ส.เขต แบบปี 2550 ส่วนกลุ่มพลังชลจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 5-7 ที่นั่ง ถือได้ว่าเท่าทุน ซึ่ง คสช. อยากจะดีลกับ ปชป. และกลุ่มพลังชล อยู่แล้ว ส่วนเหตุผลที่ คสช.คุยกับพลังชลรู้เรื่องก่อน เพราะพรรคพลังชลอยู่ภายใต้คนกลุ่มเดียว ต่างจากพรรคการเมืองอื่น ที่ภายในแบ่งเป็นหลายก๊ก หลายกลุ่ม แต่สุดท้ายเชื่อว่าพรรคชาติไทยพัฒนา จะร่วมกับ คสช. เช่นเดียวกับพรรคชาติพัฒนา สำหรับภูมิใจไทย ยังดูลำบาก เพราะหัวหน้าพรรคอย่าง นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นตัวของตัวเองสูง ขณะที่พรรคเพื่อไทย มีสมาชิกอีกจำนวนหนึ่ง รอเข้าร่วมกับ คสช. แต่อยู่ระหว่างการต่อรอง
ผศ. วันวิชิต บุญโปร่ง วิทยาลัยรัฐกิจ ม.รังสิต กล่าวว่า เป็นแผนการของ คสช. ในการหนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยการหานักการเมือง หรือกลุ่มการเมืองซึ่งมีบารมีในพื้นที่ และบารมีทางการเมือง มาช่วยประสานสิบทิศหนุน “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ มันเข้าสเป็กนายสนธยา พอดี เพราะต้องยอมรับว่า เป็นผู้ใหญ่ในวงการเมือง มีผู้นับหน้าถือตาเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การดึงนายสนธยาเข้ามาได้ ไม่ได้หมายถึงจะดึงพรรคอื่นเข้ามาได้ เพราะอย่าลืมว่า นายสนธยาและตระกูลคุณปลื้มคุมพรรคพลังชลเบ็ดเสร็จ ต่างจากโครงสร้างของพรรคอื่น อาทิ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ที่มีหลายกลุ่มรวมอยู่ในนั้น หากจะดึงมาได้ ก็น่าจะได้แค่ “บางคน” ของพรรค
ด้าน ดร.สามชาย ศรีสันต์ นักวิชาการจากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวในกรณีเดียวกันว่า ตนไม่แปลกใจกับข่าวการเข้าร่วมรัฐบาลของคนตระกูลคุณปลื้ม เพราะ ส สนธยา ก็เป็นหนึ่งใน 4 ส ที่มีข่าวว่าจะเข้าร่วมกับ คสช. อยู่แล้ว จากนี้ ก็ลุ้นกับอีก 3 ส ที่เหลือว่าจะมาจากในทิศทางไหน อย่างไรก็ตาม การจะไปดึงนักการเมือง หรือพรรคการเมืองอื่นมาเข้าร่วมในสถานการณ์ปัจจุบัน ทำได้ยากมาก อย่าลืมว่า กลุ่มพลังชลตัดสินใจได้ง่าย เพราะคนในพื้นที่กำลังจะได้ประโยชน์จากโครงการ EEC และที่ผ่านมากระแสประชาธิปไตย กระแสต้าน คสช. ไม่เคยมาเหนือพลังของคนตระกูลคุณปลื้ม
แต่ในพื้นที่อื่น นักการเมือง ต้องอาศัยกระแสคน กระแสพรรค กระแสการเมืองร่วมกัน การฝ่ากระแสประชาชน ไปเข้าร่วมกับ คสช. จึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก เช่นนี้เอง เราจึงเห็นว่ามีข่าว คสช.ดีลกับหลายกลุ่ม แต่กลับประสบความสำเร็จน้อยมาก
สุดท้ายที่ ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์ ม.บูรพา ระบุว่า คสช. ต้องดึงนายสนธยาเข้ามาก่อน เพราะเป็นผู้มีบารมีทางการเมืองมาก เป็นสมาชิก “กลุ่ม 16” มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคชาติไทยพัฒนา เพราะเคยสังกัดพรรคกันมาก่อนจะถูกบีบให้ย้ายไปร่วมกับไทยรักไทย สมาชิกของพรรคชาติไทยพัฒนาก็เข้าใจได้ มองว่าในอนาคต นายสนธยาจะเข้ามาพูดคุยกับสมาชิกในพรรคชาติไทย เพื่อดึงให้มาหนุนพลเอกประยุทธ์ ก่อนจะพูดคุยกับสมาชิกของกลุ่ม 16 ที่เหลือ ซึ่งปัจจุบันกระจายอยู่ในหลายพรรคการเมือง ทั้งนี้ คสช. หวังให้กลุ่มนักการเมืองเดิม ที่มีฐานเสียงเข้มแข็ง คอยช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดึงให้นักการเมืองเดิมเข้ามาหนุน คสช. เพราะ กระแสของ คสช. ไม่ดีนัก นักการเมืองทราบดี