หน้าแรก Article โค้งเกือบสุดท้าย ก่อนเลือกตั้ง ได้เวลา เช็ก “จุดยืน” พรรคการเมือง

โค้งเกือบสุดท้าย ก่อนเลือกตั้ง ได้เวลา เช็ก “จุดยืน” พรรคการเมือง

0
โค้งเกือบสุดท้าย ก่อนเลือกตั้ง ได้เวลา เช็ก “จุดยืน” พรรคการเมือง
Sharing

“อย่าหลอกกันก็พอ” คืออารมณ์ช้ำ ของ รศ. สุขุม นวลสกุล นักวิชาการรุ่นใหญ่ ตอบคำถามเรื่องจุดยืนการเมืองของพรรคเก่า และพรรคใหม่

ทั้งนี้ รศ. สุขุม ย้ำ ว่า จะสนับสนุนใคร ไม่ใช่เรื่องผิด ตามระบอบประชาธิปไตย ทุกฝ่ายมีสิทธิ์ในการเลือกสนับสนุนในสิ่งที่ตัวเองชอบ

“จะสนับสนุนทหารก็ได้ จะสนับสนุนใครก็ได้ ขอให้ประกาศมาให้ชัดๆ อย่าหลอกกันก็พอ”

ล่าสุด ยิ่งใกล้การเลือกตั้ง ทุกพรรคพรรคยิ่งต้องขนของออกมาขาย นโยบายช่วยเหลือประชาชน ยังพูดไม่ได้ เกรงขัดกฎหมายเลือกตั้ง แต่แนวทางการเมือง เริ่มชัด ประชาชนมองภาพออก

เริ่มจากพรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองเบอร์ 1 ของสยามประเทศ ที่ล้มลุกคลุกคลานในสนามการเมือง แต่เป็นเต้ยในสนามเลือกตั้ง จุดยืนปฏิเสธกองทัพ ตั้งโต๊ะสับฝ่าย คสช. เป็นไม้เบื่อไม้เมาอันดับ 1 ที่สมาชิกหลายคน ถูกหมายหัวโดยฝ่ายความมั่นคง พร้อมไปกับมีคดีติดตัวกันถ้วนหน้า วิบากกรรมการเมือง ล้วนสร้างคะแนนสงสารให้ฝ่ายกองเชียร์ ยิ่งโดนทุบ กองเชียร์ยิ่งรัก

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ด้วยเพราะเข็ดกับความพยายามครั้งก่อน ที่ขนาดทำตามคำแนะนำของคนร่างรัฐธรรมนูญ ที่ชื่อ จรัญ ภักดีธนากุล ยังไม่วายขัดกฎหมาย มางวดนี้ จึงได้แค่ปล่อยสมาชิกพูดระบายความอัดอั้น

แต่จะตั้งหน้าแก้ไข จนกลายเป็นมติพรรค เหมือนครั้งก่อนหรือไม่ ขอแทงกั๊กไว้ก่อน ไปลุ้นเอาช่วงประกาศนโยบาย

สำหรับการเมืองหลังเลือกตั้ง หากเลือกนายกคนในไม่สำเร็จ มีโอกาสสูง ที่จะเป็นฝ่ายค้าน

พรรคประชาธิปัตย์ กลับตาลปัตรมาขย่ม คสช.

“เดอะมาร์ค” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขอตั้งหลักยึดมั่นประชาธิปไตย เรียกศรัทธาแฟนานุแฟนกลับคืนมา โบกศาลาฝ่ายกองทัพ มีเป้าหมาย หวังชนะเลือกตั้ง หรืออย่างน้อย ได้บี้กับพรรคเพื่อไทยอย่างสูสี ให้มีความชอบธรรม พอจะเป็นตัวเลือกในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน ตั้งป้อมชิงชังระบอบทักษิณ ไม่เปลี่ยนแปลง โดยทุกครั้งที่มีข่าวให้ประชาธิปัตย์ จับมือเพื่อไทยต้านทหาร มือซ้าย มือขวา นายอภิสิทธิ์ โดยเฉพาะนายศิริโชค โสภา มักจะออกมาตั้งเงื่อนไข ในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้คือ

“พร้อมจะจับมือเพื่อไทย หากฝ่ายหลัง ลาขาดจากคนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร”

ทั้งนี้ นายศิริโชคมักถูกยิงคำถามเรื่อง “หากเลือกนายกคนในไม่ได้ พรรคจะทำอย่างไรต่อไป” และคำตอบที่ได้รับคือ

“เราจะชนะเลือกตั้ง”

เล่นมุขตอบไม่ตรงคำถาม

ส่วนจุดยืนเรื่องรัฐธรรมนูญ ชัดเจนว่า ไม่ปฏิเสธการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อ่านปากนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบติ ที่ให้สังคม ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน 2-3 ปี

ต่อที่พรรคภูมิใจไทย ด้วยความเป็นพรรคขนาดกลาง มีจุดยืนเรื่องไม่สร้างความขัดแย้ง ที่ผ่านมาหัวหน้าพรรคอย่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล ประกาศชัด มีเจตนารมย์พาบ้านเมือง เดินไปข้างหน้าลูกเดียว จึงเลี่ยงการเข้าปะทะทางการเมือง

อุดมการณ์ด้านประชาธิปไตย สนับสนุน นายกคนใน ชูหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี นับถือเรื่องสปีริตทางการเมือง พร้อมเปิดโอกาสให้พรรคเบอร์ 1 ได้จัดรัฐบาลตามความชอบธรรม และไม่ขอเป็นเงื่อนไขสร้างความขัดแย้งไดทั้งสิ้น

ทั้งนี้ หากมีอุบัติเหตุทางการเมือง เลือกนายกคนในกันไม่ได้ และมีท่าทีว่า คสช. จะกลับมาอยู่ต่อยาวๆ ก็พร้อมเลือกนายกฯคนนอก เปิดช่องให้ประชาธิปไตย ได้มีช่องหายใจ ตามที่นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคพูดอยู่เสมอว่า

“แม้จะได้นายกฯคนนอก แต่ในทางหนึ่ง ก็ถือเป็นการลดอำนาจ คสช. – ม.44”

ในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อธิบายว่า รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้แน่นอน หากใช้ไปแล้ว เกิดปัญหา และประชาชนเห็นตรงกันว่าต้องมีการแก้ไข

ไม่ปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ขอฟังกระแสสังคม ก่อนตัดสินใจ

ต่อกันที่พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นหนึ่งในพรรคที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรี สวนทางกับเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรค ออกตัวหนุนเต็มที่ เพราะครั้งหนึ่งในยุค เติ้ง เสี่ยวหาญ นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรค เคยชนะเลือกตั้ง เพราะชูแก้กฎหมายสูงสุดกันมาแล้ว มาครั้งนี้ เห็นโอกาส จึงต้องรีบคว้า ใช้ “บรรหารโมเดล” ตั้ง สสร. มาแก้รัฐธรรมนูญ

มากันที่พรรคพลังชล ในเครือตระกูล “คุณปลื้ม” ชัดเจนว่า เออออห่อหมกไปกับฝ่าย คสช. แน่นอน เพราะรับมัดจำเป็นตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว

ไม่นับพรรคเกิดใหม่ ที่แบ่งแยกชัดเจน โดยกลุ่มหนึ่งปฏิเสธฝ่าย คสช. เช่นพรรคอนาคตใหม่ ที่ชูการรื้อทิ้งรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงการนิรโทษกรรมนักโทษยุค คสช. ที่ฝ่ายกองทัพเริ่มเหล่ตามองพลางกัดฟันกรอด ขณะที่อีกกลุ่มออกตัวหนุน คสช. เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรค กปปส. ที่เริ่มฟอร์มทีมลุยล่าแต้ม

เหล่านี้คือจุดยืนล่าสุด ในสนามการเมืองที่ยังฝุ่นตลบ แน่นอนว่า ไม่มีใครผิด ไม่ใครถูก เว้นแต่หักหลักประชาชน ต้องถูกลงโทษ

เช่นที่ รศ. สุขุม กล่าวไว้

“จะสนับสนุนทหารก็ได้ จะสนับสนุนใครก็ได้ ขอให้ประกาศมาให้ชัดๆ อย่าหลอกกันก็พอ”

ที่สำคัญ ภายใต้โครงสร้างเมือง ณ ปัจจุบัน ที่แสนสลับซับซ้อน มีอำนาจ เหนืออำนาจ

เมื่อเห็นจุดยืน แนวทางกันไปแล้ว จะรักใคร ชอบใคร เลือกใคร อยากให้บ้านเมืองไปทางไหน วนอยู่กับที่ หรือเดินไปข้างหน้า

ขึ้นอยู่กับ “ประชาชน”

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่