เคลียร์ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ภารกิจ คณะ กก.กทม.ชุดเล็ก
ในความชื่นมื่นของภาพที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. ไปชกมือกับนายกฯเศรษฐา และหารือกับ รมว.มหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล มีความวุ่นวายอยู่เบื้องหลัง
เพราะขณะนี้ กทม.ยังมีเผือกร้อนเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่ในมือ
หัสเดิม BTS แบกหนี้ก่อสร้าง และเดินรถไฟฟ้า อยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท จากนั้น มีความพยายามอย่างเต็มที่ ในการขยายสัมปทานการเดินรถให้กับบริษัท BTS ออกไปอีก 30 ปี พร้อมกับกำหนดค่าเดินทางเป็นไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย เพื่อแลกกับการให้บริษัทรับภาระหนี้สินคงค้างข้างต้น
แต่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ ที่กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ณ ขณะนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และองคาพยพอื่นคัดค้านข้อเสนอดังกล่าว เพราะมองว่า รัฐอาจจะเสียผลประโยชน์ให้กับเอกชน
ที่สำคัญ ประชาชน ยังต้องจ่ายแพงกว่าที่ควรจะเป็น
นอกจากนั้น ยังมีข้อพิพาทต่างๆ อีกพอสมควร
ถึงขั้นที่มีคดี ความให้ ปปช. ชี้มูลกันแล้ว โดยเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีมติชี้มูลความผิด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น พร้อมพวกรวม 12 คน ฐาน หลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว และ หลีกเลี่ยงและไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และเอื้อประโยชน์ให้แก่ BTSC เพียงรายเดียว
ที่สุดแล้วความต้องการจะต่อสัญญาให้ BTS พร้อมกำหนดค่าบริการเป็น 65 บาท ตลอดสาย จึงเป็นหมันไปในที่สุด เมื่อรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย ปฏิเสธให้ความร่วมมือ
เอาเข้าจริงนี้ ทางภาคประชาสังคมนั้น เห็นด้วยกับพรรคภูมิใจไทย
ด้านสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) โพสต์เฟซบุ๊ก แสดงความเห็นคัดค้านต่อการต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 30 ปี และการตั้งราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสีเขียวที่ 65 บาทตลอดสาย สอบ. มองว่า เป็นราคาที่สูงเกินไปสำหรับประชาชนและอาจจะเป็นการสร้างวิกฤตใหม่ซ้ำเติมประชาชนในอีก 30 ปีข้างหน้า พร้อมเสนอให้ยังคงอัตราค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวไว้ที่ 44 บาทตลอดสายไปจนสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 โดยให้จัดเก็บค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท และหลังสิ้นสุดสัมปทานแล้วให้รัฐบาลเก็บค่าโดยสารไม่เกิน 25 บาทตลอดสาย
ล่าสุด มีการเปลี่ยนรัฐบาล แต่ปัญหาความอลเวงของรถไฟฟ้าสายสีเขียวยังคงอยู่
ชัดเจนว่า ท่าทีของพรรคภูมิใจไทยนั้น ยังยึดมั่นกับแนวทางเดิม คือ ไม่เห็นด้วยกับการให้เอกชน ได้สิทธิ์ขยายสัมปทานไปถึง 30 ปี แถมเก็บค่าโดยสารสูงถึง 65 บาท ตลอดสาย เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์รัฐ และประชาชน
ทีนี้ ต้องวัดใจท่านนายกฯ รมว.คมนาคม และผู้ว่า กทม.ว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ให้รัฐไทย ให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด เพราะปล่อยเวลาไว้เนิ่นนาน ปัญหาหนี้ จะยิ่งบานปลาย
ซึ่งบุคคลสำคัญทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่อยู่ใน “คณะทำงานเร่งรัดพัฒนา กทม.” ที่เพิ่งตั้งขึ้น
หรืออีกชื่อหนึ่งคือ คณะ กก.กทม.ชุดเล็ก
ซึ่งมองกันว่า คณะกรรมการชุดนี้ ส่วนสำคัญ ก็เพื่อรวมผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เอาไว้เร่งเกม คลี่คลายปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว นั่นเอง