นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต รู้ว่าเสี่ยง แต่คงต้องขอลอง

Sharing

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต
รู้ว่าเสี่ยง แต่คงต้องขอลอง

ธรรมชาติของพรรคเพื่อไทย คือ การเดินหน้านโยบายทางเศรษฐกิจ ที่สุดแสนจะหวือหวา ที่ผ่านมา นี่คือจุดขาย คือการกระจายเม็ดเงิน ลงสู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และหลายครั้ง มักจะมีข้อครหา จนถึงปัญหาตามมา โดยเฉพาะการตั้งแง่เรื่องประชานิยม พาล่มจมกันทั้งประเทศ ไปจนถึงการโจมตีเรื่องความโปร่งใส ซึ่งการโจมตีเหล่านี้ ปรากฏชัดในนโยบายจำนำข้าว แต่ก็นั่นแหละ อย่าลืมว่านโยบายเหล่านี้ มิใช่หรือ ที่พาเพื่อไทยโกยคะแนนเลือกตั้ง มานักต่อนัก

ปัจจุบันนี้ นโยบาบดิจิทัลวอลเล็ตกำลังโดนแรงเสียดทานไม่แพ้กัน แต่เชื่อขนมกินได้ พรรคเพื่อไทย ไม่มีทางใส่เกียร์ถอย เพราะความดื้อรั้นแบบนี้ มันก็เป็นแบรนด์ของพรรคเพื่อไทยเหมือนกัน

อย่างไรก็ตามฝ่ายต้าน ก็ไม่ยอมกันง่ายๆ ที่น่าสนใจคือกลุ่มนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ระดับประเทศ ที่แสดงความกังวลต่อนโยบายนี้ ในนี้ มีรายชื่อ ที่นับได้ว่า เป็นโคตรอินฟลูฯ ทางการเงิน การคลังคือ ดร.วิรไท สันติประภพ และดร.ธาริษา วัฒนเกส ซึ่งทั้งคู่เป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไหนจะกลุ่มนักวิชาการ ที่นำโดยรศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ไปจนถึงเทนโนแครตสายแข็ง อย่าง รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สำหรับสาเหตุที่ต้องค้าน เพราะกังวล ต่อความมั่นคงทางการคลังของประเทศไทย เป็นหลักใหญ่ใจความ

กระนั้น สำหรับฝ่ายที่หนุนนโยบายนี้แล้ว เสียงนักวิชาการ และฝ่ายที่ออกมาค้าน ก็เหมือนเสียงของคนรุ่นเก่า ที่ตกยุค ตกสมัย ไม่ทันโลก ทันความจริง เรื่องธรรมชาติของเงินหมุนเวียน ที่เมื่อเติมเงินในระบบแล้ว รับรองว่าความซู่ซ่าทางเศรษฐกิจจะบังเกิดอย่างแน่นอน

ล่าสุด นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ถือเป็นนโยบาย ที่ดีของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการบริโภคของประชาชนที่กำลังลำบากอย่างยิ่งจากวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ขั้นต่ำ ปานกลาง แรงงาน และกลุ่มเปราะบางประเภทต่าง ๆ และคนตกงาน

นี่คือเสียงของคนที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจปัจจุบัน และเป็นกลุ่มที่ทำจริง ไม่อิงตำรา จะเห็นว่าซุ่มเสียงนั้น ไปในทางหนุนนำ อยากเห็นนโยบายเป็นรูปธรรม และกลุ่มนี้เอง ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย หวังได้เสียงหนุน คือ คนจริงๆ ที่บอบช้ำจากการฝืดเคืองด้านเศรษฐกิจ และต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงโดยด่วน พอกันทีกับนโยบายรัดเข็มขัด พอได้แล้ว กับการพร่ำบอกเรื่องความมั่นคง นี่คือ เวลาที่ต้องเสี่ยง เพื่อให้เศรษฐกิจไทยไปต่อได้

นักวิเคราะห์มองว่า นี่คือ สัญญาณการออกตัวของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งถือว่ามีพาวเวอร์มาก กับการตัดสินใจของรัฐบาลมาในทุกยุคทุกสมัย

กกร.ประกอบไปด้วย คณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย

โดยก่อนหน้านี้ กกร. มีท่าทียึกยักกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กกร. เสนอให้กระจายเงินสู่ประชาชนที่มีความจำเป็นจริงๆ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการขอมีบท แต่ยังไม่ฟันธง ของจริงต้องรอดูท่าทีหลังจากนี้

แต่อย่าลืมว่า สำหรับพรรคเพื่อไทยแล้ว นโยบายนี้ มีเดิมพันสูงมาก ยิ่งในทางการเมือง การยืนหยัดยึดมั่นในนโยบายที่หาเสียงไว้ คือ คุณสมบัติของนักการเมือง และพรรคการเมือง ซึ่งจะจารึกไว้ในใจประชาชน

ทั้งหมด ทั้งมวล ให้ดูท่าทีของ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ที่ออกมากล่าวว่า

“ขณะนี้สภาวะเศรษฐกิจประเทศไทย ยังไม่ได้เติบโตเต็มศักยภาพ และเติบโตช้ากว่าภูมิภาค ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนยังเปราะบาง มาตรการดิจิทัลวอลเล็ต จึงเป็นการจุดชนวน กระตุกเศรษฐกิจให้เติบโตอีกครั้งหนึ่ง เป็นใส่เงินให้ทั่วถึง กระจายทุกพื้นที่ สร้างโอกาสการจ้างงาน สร้างการลงทุน เพิ่มการผลิต และเชื่อมั่นกลไกนโยบาย จะประสบผลสำเร็จ”

มันก็ชัดเจนแล้วว่า

ถึงนโยบายนี้จะเสี่ยง แต่คงต้องขอลอง

ส่วนเมื่อทำแล้ว ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่นานจะได้รู้กัน

#Ringsideการเมือง


Sharing
spot_img

Latest articles

Related articles

spot_img