ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2561 ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเห็นชอบ ร่าง แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เพื่อคลายล็อกให้บรรดาพรรคการเมือง ทำกิจกรรมตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เสนอขอความเห็นต่อ กกต.
โดยที่ประชุม กกต. เห็นว่า ร่างแก้ไขคำสั่ง คสช. มีเนื้อหาหลัก เป็นตามที่ กกต. เสนอต่อที่ประชุมร่วมระหว่างรัฐบาล คสช. และพรรคการเมือง เมื่อ 25 มิ.ย.2561 คือ ภายหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา แล้ว ให้ดำเนินการดังนี้
1.ให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค หาสมาชิกพรรค และให้ความเห็นต่อ กกต. ในเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้ง และการจัดทำไพรมารีโหวต
2.ให้อำนาจ กกต. ออกหลักเกณฑ์และระเบียบให้สอดคล้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีการประกาศใช้ และให้ดำเนินการเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้งได้
สำหรับประเด็นการทำไพรมารีโหวต ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอเป็นทางเลือกคือ ให้ทำเป็นรายภาค โดย กรธ. ให้เหตุผลว่า มีความยืดหยุ่น มากกว่าการทำไพรมารีโหวตแบบรายเขต ตามมาตรา 145 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ที่ประชุม กกต. มีความเห็นว่า ว่า กกต. มีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย คือ กฎหมายบัญญัติอย่างไร กกต. ก็พร้อมปฏิบัติตาม ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ กกต. จะส่งความเห็น กลับไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้จัดทำร่างแก้ไข คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมใหญ่ เพื่อทำไพรมารีโหวต และให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถแบ่งเขตการเลือกตั้ง รวมถึงอาจจะปรับการทำไพรมารีโหวตแบบรายเขตเป็นภาคว่า เป็นเรื่องจริง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการทำไพรมารีโหวต โดยในการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองต่างๆ เมื่อ 25 มิ.ย.2561 ได้มีการพูดถึงการทำไพรมารีโหวตไว้ว่า มีประมาณ 3-4 แนวทาง คือ 1.ยังไม่เริ่มใช้ไพรมารีโหวต 2.มีการทำไพรมารีโหวตแบบจังหวัด ซึ่งเป็นไปตามบทเฉพาะกาล
3.การทำไพรมารีโหวตแบบภาค 4.หากไม่ใช้การทำไพรมารีโหวตจะใช้รูปแบบใดมารองรับแทน เพื่อให้สมาชิกพรรคการเมืองได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร
เพราะหากไม่ทำไพรมารีโหวตก็จะไม่มีอะไรมารองรับตรงนี้และจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ที่กำหนดให้สมาชิกพรรคต้องมีส่วนร่วม ดังนั้น จึงมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำแนวทางเหล่านี้ ไปจัดทำร่างในทุกรูปแบบแล้วนำเสนอ กกต.พิจารณา ส่วน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)จะเลือกใช้รูปแบบใดใน 4 รูปแบบดังกล่าว ก็เป็นเรื่องที่ คสช. จะเป็นผู้พิจารณา และจะส่งข้อพิจารณาของ คสช. ไปให้ กกต. ดำเนินการต่อ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเลือกแนวทางตามที่ คสช. เลือก และขณะนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจว่า จะมีการทำไพรมารีโหวตแบบรายภาคตามที่บางฝ่ายเข้าใจ ส่วนแนวทางที่เป็นข่าวออกมา เป็นเพียงแนวทางหนึ่ง ที่มีการสรุปความเห็นไปให้ กกต. เท่านั้น โดยได้ย้ำว่า แนวทางเกี่ยวกับการทำไพรมารีโหวตนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กกต. คสช. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)
ขอบคุณเนื้อหาจาก : เพจแจงสี่เบี้ย