นางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล อดีต ส.ส.นครราชสีมา เปิดเผยถึงภาพรวมในจังหวัดนครราชสีมา ว่า ปัจจุบันถือว่า น่าเป็นห่วงในเรื่องของราคาพืชผลทางการเกษตรมาก เพราะราคาสินค้าเกษตรดีขึ้นแต่ไม่มีสินค้าอาทิ ข้าว มีราคาดีขึ้นแต่ไม่มีสินค้าเนื่องจากเกษตรกรไม่มีทุนในการผลิตจากเดิมที่ราคาข้าวตกต่ำมาหลายปี ส่งผลให้เกษตรกรประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอดส่งผลให้เกษตรกรไม่มีทุนไปทำนาข้าว จึงเสียโอกาส ทั้งนี้ อยากให้รัฐเข้าไปช่วยในด้านการส่งเสริมการลงทุนให้กับเกษตกรด้วย
นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 1-2 ที่ผ่านมา พบว่าราคามันสำปะหลังปัจจุบันยังดีอยู่ แต่คาดว่าปลายปีน่าจะลดลงแต่ไม่มากนักซึ่งเป็นไปตามรอบปีของราคามันสำปะหลังเป็นกลไกของตลาดโลก แต่ในขณะเดียวกันพืชเศรษฐกิจอีกประเภทยังไม่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปาล์ม ซึ่งราคาตกมาก อ้อยราคาตกต่ำมาก และยางพาราก็ไม่ดีขึ้น ที่ผ่านมาตนได้แนะนำเกษตรกรในการปลูกพืชทดแทน
รวมทั้ง ควรศึกษาลู่ทางก่อนว่าตลาดในอนาคตต้องการอะไร พร้อมทั้งการผลัดเปลี่ยนพืชที่จะปลูกเพื่อรองรับความต้องการของตลาดในแต่ละช่วง รัฐบาลต้องเข้ามาจัดระบบการปลูกพืชเพื่อรองรับความต้องการตลาด และการแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชเพื่อรองรับผู้ประกอบการ นอกจากนี้แล้ว ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรต้องเข้ามาแนะนำให้เกษตรกร ในการปลูกพืชเพื่อรองรับความต้องการของตลาด
นางจิตรวรรณ กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องเป็นที่ปรึกษาให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งประเมินข้อมูลให้รอบคอบ ครอบคลุมทุกด้านและมีข้อมูลสินค้าในพื้นที่ให้มากที่สุด นอกจากนี้ รัฐไม่ควรที่จะเอื้อเอกชนในการนำเข้าสินค้าเกษตรเพราะบางตัวจะส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชในประเทศ พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีในการจัดโซนนิ่งในการปลูกพืชผลทางการเกษตรเพื่อให้ได้สินค้าเกษตรที่มีปริมาณเพียงพอกับความต้องการผู้ประกอบการ
นางจิตรวรรณ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา ภาครัฐและเอกชนควรมีการจัดการระบบคมนาคม พร้อมกันนั้นให้ภาครัฐควรมีการจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนหามาตรการในการจัดวางระบบการจราจรในพื้นที่ใหม่ โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการจัดการจราจรทั้งระบบ รวมทั้งการวางโครงข่ายใยแมงมุมทางการจราจรเพื่อรองรับการขยายตัวของเขตเมือง และการถ่ายเทคนจากในเมืองไปนอกเมือง โดยการสร้างทางรถไฟฟ้ารอบเมืองเพื่อขนถ่ายขนคนจากในเมืองไปชานเมืองจะส่งผลลดปริมาณการจราจรในเมืองได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสร้างจุดขายสินค้าตามจุดจอดรถไฟฟ้าได้อีกด้วย ถือเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับคนในพื้นที่ รองรับการขยายตัวในอนาคต