หลังปี่กลองการเมืองเริ่มบรรเลง บรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายต่างเดินหน้าในการหาโอกาสเพื่อเป็นพรรคการเมืองใหญ่หรือเป็นพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องมีส.ส.เป็นจำนวนมาก วัฏจักรการเมืองก็หมุนวนกลับมาสู่จุดเดิม คือการย้ายพรรคของนักการเมือง
ที่เป็นเช่นนี้เพราะพรรคการเมืองกำลังปวดหัว ปวดตับ กับกติกาการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ประกอบกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 ทั้งในเรื่องการให้สมาชิกพรรคมาทำการยืนยันสถานะความเป็นสมาชิก และเรื่องอื่นๆ ปรากฏว่าบรรดาผู้มีอำนาจของ คสช.ต่างโชว์พลังดูดอดีตนักการเมืองที่ คสช.เคยบอกว่าไม่ดีเข้ามาอยู่ภายใต้สังกัดตัวเองอย่างสะดวกมือ
การเดินหน้าในการดูดนักการเมืองเพื่อมาสนับสนุน คสช.ก็ไม่ได้ว่าแตกต่างไปจากวิถีของนักการเมือง คือการดึงเป็นทีมและดึงเป็นตัวบุคคล เพราะโดยปกติแล้วในทางการเมืองจะช้อปอดีต ส.ส.เป็นรายเขตหรือเป็นรายบุคคล
ดูเหมือนว่าพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุน คสช.กำลังจะคืบคลานไปสู่ภาคอีสาน แต่การจะเดินเกมดูด ส.ส.ในภาคอีสานนั้นไม่ได้ทำได้ง่าย เพราะเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่พรรคเพื่อไทยผูกขาดเสียเป็นส่วนใหญ่มาเป็นเวลานาน
ดังนั้น การหยิบ ส.ส.ใส่ตะกร้าก็ต้องเริ่มจากพื้นที่ที่ไม่ใช่ของพรรคเพื่อไทยก่อนเป็นประการแรก แม้พรรคเพื่อไทยจะกุมเสียงข้างมากอยู่ ที่ผ่านมาดูเหมือบบรรดาส.ส.แต่ละพรรคการเมืองก็วิ่งหาพรรคที่มีปัจจัยสนับสนุนหลายอย่าง ทั้งบารมี เงิน อำนาจ และสิ่งอำนายความสะดวกต่างๆ จึงไม่ง่ายอย่างที่ผู้มีอำนาจคิดการณ์ไว้
แต่เมื่อสถานการณ์เข้าตาจน ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ คสช.ก็ต้องใช้วิธีดูดเพื่อชาติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง เช่นกัน รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ออกแบบการเลือกตั้งให้ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม แม้จำนวน ส.ส.จะมี 500 คน และแบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อตามเดิม แต่วิธีการเลือกตั้งและการคำนวณคะแนนเพื่อหาจำนวน ส.ส.กลับเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง
ระบบจัดสรรปันส่วนผสม กำหนดให้การเลือกตั้งใช้บัตรเลือกตั้งแบบ ส.ส.แบ่งเขตเพียงใบเดียว จากเดิมที่บัตรเลือกตั้งจะมีสองใบ นอกจากนี้ การคำนวณคะแนนเลือกตั้งเพื่อหาจำนวน ส.ส.แบบใหม่นั้นก็ใช้คะแนนจาก ส.ส.เขตเท่านั้น เท่ากับว่าการได้มาซึ่ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อจะมาจากคะแนนเลือกตั้งของ ส.ส.ระบบแบ่งเขตเพียงอย่างเดียว เมื่อระบบการเลือกตั้งเปลี่ยนไปเช่นนี้ การจะได้ ส.ส.เข้าสภา จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยกระแสและความนิยมของผู้สมัคร ส.ส.เขตที่มีอยู่ในพื้นที่พอสมควร เรียกได้ว่าผู้สมัคร ส.ส.เขตจะต้องเป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญ
เพราะในทางกลับกัน ถ้าส่งคนที่ไม่มีพื้นเพเป็นทุนเดิม โอกาสที่จะแพ้ทั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตและชวดที่จะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อก็มีความเป็นไปได้สูงบรรดาพรรคการเมืองในปัจจุบันก็ต่างรับรู้ถึงหมากเกมนี้ของ คสช.เป็นอย่างดี
จึงไม่แปลกที่ออกมาฟาดงวงฟาดงาถล่ม คสช.ว่ากำลังตกปลาในบ่อเพื่อน ในมุม คสช.เอง ต่างไม่มีทางเลือกเช่นกัน ครั้นจะให้ตั้งพรรคเพื่อสืบทอดอำนาจโดยปราศจากนักการเมืองหน้าเดิมๆ คงเป็นเรื่องยากที่ คสช.จะกลับมามีอำนาจตามระบบ เพราะรู้ตัวดีว่าอาศัยแต่บารมีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.หรือนายทหารมากบารมีเพียงไม่กี่คนอย่างเดียว ย่อมไม่มีทางไปถึงเป้าหมายได้เป้าหมายของ คสช. คือ การสืบทอดอำนาจเพื่อเดินหน้าสานงานของตัวเองต่อให้จบ ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 4-5 ปี
โดยตอนนี้ตัวเองได้เปรียบเหนือทุกพรรคทั้งในแง่กติกาและอำนาจทางการเมือง เหลือเพียงแต่การนำมาปะติดปะต่อให้เกิดเป็นรูปธรรมผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมที่เห็นและเป็นอยู่ คสช.จึงต้องดูดเพื่อชาติ เพื่อเป้าหมายของการสืบทอดอำนาจและทำภารกิจให้ลุล่วง แม้จะถูกมองว่าเป็นคนเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกงก็ตาม
หากจะมองในมุมของพรรคประชาธิปัติย์ ก็ใช่ว่าจะนิ่งนอนใจ เพราะหากมัวแต่นั่งตีขิมสบายใจก็อาจจะถูกนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตคนคุ้นเคย ดูด ส.ส.ปชป.ไปได้เช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) จึงกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพรรค ปชป. กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ว่า เรื่องส่วนตัวไม่มีเปลี่ยนแปลง เพราะเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา เป็นเรื่องปกติ ส่วนทางการเมืองต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ของตัวเอง แข่งขันกันธรรมดา เมื่อมีการตั้งพรรคขึ้นมาใหม่ย่อมต้องแย่งฐานเสียงกันแน่นอน ไม่ใช่เฉพาะแค่เพียงพื้นที่ภาคใต้ แต่แย่งกันทั่วประเทศถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา
ส่วนการย้ายพรรคนั้นสมาชิกแต่ละคนต้องตัดสินใจ ซึ่งเดือนกว่าที่ผ่านมาเชื่อว่าหลายคนตกผลึก และมีความคิดเป็นของตัวเอง ที่ลาออกไปแล้วก็มีที่ จ.สุราษฏร์ธานี และจันทบุรีตามที่ปรากฏเป็นข่าว ส่วนคนอื่นๆต้องถามกับเจ้าตัวเอง ด้านนายสุรเชษฐ์ แวอะแซ อดีต ส.ส.นราธิวาส ปรารภอยู่บ้าง แต่ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนกรณีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต ส.ส.กทม.นั้น นายพุทธิพงษ์ ยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่นายณัฏฐพลอยู่ระหว่างการตัดสินใจ
กรณี กลุ่มสามมิตรที่กำลังเคลื่อนไหวและดูดอดีต ส.ส.นั้น ตนห่วงเรื่องหลังเลือกตั้งมากกว่า อยากให้การเมืองเดินหน้าหลังการเลือกตั้งได้ ไม่ได้อยากให้เกิดความขัดแย้ง รวมทั้งประชาชนคาดหวังว่าอยากให้หลุดพ้นจากการเมืองเก่าๆ และแก้ปัญหาปากท้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชัดเจน จึงอยากให้พรรคการเมืองคิดถึงเรื่องเหล่านี้มากกว่า
“ส่วนการดูด เสนอต่อรอง คิดว่าประชาชนเบื่อหน่าย และหากตอกย้ำเรื่องแบบนี้ เมื่อไหร่อนาคตของประชาชนจะลืมตาอ้าปากกันได้ ดังนั้น ใครที่ยังทำเรื่องเก่าๆแบบนี้ อย่าทำ เกรงใจประชาชนบ้าง ถ้าทำเรื่องการเมืองให้เป็นเรื่องการแลกเปลี่ยนต่อรองผลประโยชน์ ผมไม่ได้ติดใจเรื่องการได้เปรียบเสียเปรียบ แต่มองว่าประเทศจะเสียหาย ที่สำคัญการเมืองจะปฏิรูปไม่ได้หากไม่เริ่มด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม เพราะฉะนั้นรัฐบาลบอกเองว่าจะเป็นผู้ทำหน้าที่ปฏิรูป ก็ต้องปฏิบัติให้เห็นด้วย” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มสามมิตรออกมาระบุว่า ไม่เคยใช้เงินดูดอดีต ส.ส.และขณะนี้ทางกลุ่มมีแนวร่วมกว่า 200 คนว่า มองว่าเป็นสงครามโฆษณาชวนเชื่อ เป็นสงครามการตลาด และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนที่จะไป ส่วนที่ระบุว่าไม่ใช่เงินก็ขอให้เป็นเรื่องจริง เพราะเรื่องจริงทราบกันอยู่แล้วว่า ทำอะไร รวมถึงกรณีที่คุยกับ นปช.ซึ่งตนมองว่าคนที่จะไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นสิทธิของแต่ละคน ไม่สามารถห้ามได้
ส่วนที่มีข่าวว่า นปช.ไปแล้วกว่า 10 จังหวัดนั้น ตนถามคนรู้จักก็บอกว่าไม่รู้จักกับกลุ่มนั้น เพราะ นปช.ไม่มีสายบังคับบัญชา ซึ่ง นปช.เป็นกลุ่มที่ต่อสู้กับเผด็จการและต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตย หากไปสนับสนุนคนสืบทอดอำนาจ ถ้าทำใจได้ก็ไป ไม่มีใครห้ามกัน แต่ตนเชื่อว่าคนที่รักประชาธิปไตยแท้จริงคงทำใจไปอยู่ร่วมไม่ได้ สำหรับรายชื่อว่าที่ผู้สมัครกลุ่มพรรคประชารัฐใน จ.อุบลราชธานี กว่า 10 เขตนั้น เป็นรายชื่อเดิมๆ ที่มีมาตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. มองว่ารายชื่อดังกล่าวไม่ใช่คู่ต่อสู้ทางการเมืองที่น่ากลัว เพราะสุดท้ายพี่น้องประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำเวลานี้คือเร่งจัดการเลือกตั้ง เพื่อพิสูจน์ว่าประชาชนจะเลือกใคร หากต่างคน ต่างพูดก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไร
นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า จากการทะเลาะเบาะแว้งกันมาเป็น 10 ปี ประชาชนเบื่อหน่ายการเมืองแบบเดิมๆ เพราะทะเลาะกันมาตลอดพรรคนั้นขึ้นพรรคนี้ตีรวน ประมาณนี้ ส่งผลให้พรรคภูมิใจไทยไม่อยากไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง เลือกที่จะเอาตัวออกจากความขัดแย้งหันไปหาแนวยทางในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตรงนี้มองว่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนมากกว่า ที่จะมานั่งชี้หน้าต่อว่ากันไปมา
ทั้งนี้ ในฐานะพรรคการเมืองอยากให้นักการเมืองเดินออกจากความขัดแย้ง แล้วเอาประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง แข่งกันทำดีทำเพื่อประชาชนดีกว่า
รศ.สุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวในรายการริงไซด์การเมืองว่า ส่วนตัวสนใจปรากฏการณ์นักการเมืองลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพราะเป็นจังหวัดใหญ่รองจากกรุงเทพฯ มี ส.ส.จำนวนมาก และที่สำคัญคือมีความหลากหลายพรรคในพื้นที่ ซึ่งไม่เคยเห็นการเหมาเข่งพรรคใดพรรคหนึ่ง จึงถือว่าเป็นเสน่ห์ทางการเมืองในพื้นที่นี้ ทำให้พรรคที่จะไปปักธงมีความหวังทั้งนั้น
ตนไม่เห็นด้วยกับการที่นักการเมืองจะมานั่งชี้กัน เพราะมันทำให้ดูเหมือนว่านักการเมืองเป็นคนเลว เมื่อชี้กันไป-มาก็จะกลายเป็นว่าเลวกันหมด มันเลยเกิดวลีขึ้นมาว่าเวลาเลือกตั้งให้เลือกคนที่เลวน้อยที่สุด แสดงว่าคนลงเลือกตั้งมีแต่คนเลวทั้งนั้น ซึ่งมันไม่ดีต่อระบอบประชาธิปไตย หากนักการเมืองเป็นคนไม่ดีในสายตาประชาชนแล้ว คนจะไม่ศรัทธาต่อการเลือกตั้ง ไม่ศรัทธานักการเมือง ประชาธิปไตยจะไปยาก เพราะฉะนั้นอย่าสาวไส้กันเอง ผมจึงบอกว่าที่คุณภูมิธรรมกับคุณศุภชัยพูดเป็นคำเตือนนักการเมือง” รศ.สุขุม กล่าว
วัฒนา อ่อนกำปัง รายงาน