รศ.สุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยในรายการ “ริงไซด์การเมือง” ถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนี้ว่า กรณีกลุ่มสามมิตรที่เดินสายดูดกลุ่มการเมือง ทั้งการดึงมวลชนของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และทาบทามแนวร่วมของกลุ่ม กปปส.เข้ามาร่วมงานทางการเมืองกัน ถือเป็นจุดที่น่าสนใจเพราะเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกำลังจับตามอง
พร้อมกันนี้ ท่าทีของแกนนำ นปช.นำโดย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.ที่ออกมาตอบโต้กลุ่มสามมิตร ที่เป็นเช่นนี้ก็มาจากแรงกระเพื่อมพอสมควรในกลุ่มมวลชนของ นปช. และพรรคเพื่อไทยก็ต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมา นปช.เป็นฐานให้พรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด ดังนั้น การขยับของแนวร่วม นปช.ตามพื้นที่ต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายพรรคเพื่อไทย หรือ นปช.เองต้องมานั่งดูว่าจะทำอย่างไร
นอกจากนี้ ในการเดินเกมของกลุ่มสามมิตร เป็นการเดินเกมที่น่าสนใจ เพราะล่าสุดการพบกันของนายสิระ เจนจาคะ อดีต สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช. )แกนนำ กปปส.ศิษย์เอกอดีตพระพุทธอิสระ ก็น่าสนใจว่าจะมีแกนนำ กปปส.เข้ามาเพิ่มอีกหรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) อดีตเลขาธิการ กปปส.จะทำอย่างไร เป็นที่น่าสังเกตว่าการเกิดขึ้นมาของพรรครปช.หลังจากวันเปิดตัวก็ลดลงไปเรื่อยๆ
รศ.สุขุม กล่าวด้วยว่า การเดินเกมของกลุ่มสามมิตร น่าจะได้รับสิทธิพิเศษจาก คสช.ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะ ความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มสามมิตร คือ ต้องการให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาร่วมทัพ แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าพลเอกประยุทธ์จะเอาอย่างไร นอกจากนี้แล้ว นอกจากพลังประชารัฐแล้วมีอีกหลายพรรคที่ประกาศสนับสนุนพลเอกประยุทธ์
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งยังเชื่อมั่นว่าพลังประชารัฐจะไม่ได้จำนวน ส.ส.มาก จนเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างแน่นอน แต่อาจจะเพียงพอในการเสนอรายชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี
รศ.สุขุม กล่าวด้วยว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรในการเดินเกมดูดมวลชน นปช.ตามต่างจังหวัดเข้ามาร่วมทำงานทางการเมืองนั้น เพราะต้องการแสดงให้ผู้มีอำนาจเห็นว่าเขาเอาจริง ในขณะเดียวกันก็เป็นเกมบีบให้พรรคเพื่อไทยและแกนนำนปช.ขยับตัวมากกว่าที่ผ่านมา นอกจากนี้ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ประเทศไทยได้รับการจับตาจากนานาชาติ และที่ผ่านมาทางกลุ่มสหภาพยุโรป บีบไทยให้มีการให้ผู้มีอำนาจเปิดเสรีทางการเมือง
กรณีเงื่อนไขและขั้นตอนการเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจจากการที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดโมเดลการจัดทำไพรมารีโหวต ซึ่งในการร่างรัฐธรรมนูญนั้นถือว่าเป็นการร่างที่ขัดกับธรรมชาติการเลือกตั้งไทย เพราะเขียนไว้สวยหรูแต่แนวทางปฎิบัติทำไม่ได้ เพราะ 5 แนวทางที่เสนอสร้างความวุ่นวายและยุ่งยากให้พรรคการเมือง อย่างไรก็ตามหากจะเลือกแนวทางอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ไพมารีโหวต แต่ให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่าแนวทางที่ให้พรรคการเมืองเคาะผู้สมัคร และให้สมาชิกพรรคลงชื่อรับรอง เป็นแนวทางที่น่าจะเป็นทางออกได้
นอกจากนี้ยังมองว่าหลังการเลือกตั้ง เชื่อว่าแม้พรรคเพื่อไทยจะมีเสียงสนับสนุนและมีส.ส.รวมกันสูงถึง 200 เสียง ก็ไม่แน่นอนว่าจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะต้องไม่ลืมว่าฝั่งตรงข้ามพรรคเพื่อไทยมีเสียงสนับสนุนแน่นอน 250 เสียง จาก ส.ว. อยู่แล้ว