การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)สัญจรที่จังหวัดอุบลราชธานีและอำนาจเจริญ ในช่วงวันที่ 23-24 กรกฏาคม 2561 ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี ผลการประชุมออกมาเป็นที่น่าพอใจ นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (ราชธานีเจริญศรีโสธร: อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร) ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร รวมถึงเห็นชอบตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ รวมทั้งรายงานผลการดำเนินการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป
นายณัฐพร กล่าวว่า ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่
1.ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ แบ่งเป็น 3 โครงข่าย คือ โครงข่ายคมนาคมทางถนน จำนวน 12 สายทาง รวมไปถึงการเร่งรัดการศึกษาออกแบบโครงการก่อสร้างสะพานพัฒนามิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 6 ที่ อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี และ 12. เร่งรัดศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างถนนเชื่อมท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานีโดยเชื่อมทางหลวงหมายเลข 231 ผ่านกองบิน 21 มาบรรจบถนนเข้าสนามบินนานาชาติอุบลราชธานี ระยะทาง 2.518 กิโลเมตร โครงข่ายคมนาคมทางอากาศ โดย 1. เร่งรัดดำเนินการขยายอาคารสนามบินนานาชาติอุบลราชธานีให้เร็วขึ้นจากแผนที่กำหนดไว้เดิมเมื่อปี 2565 และ 2.เร่งรัดศึกษาสนามบินมุกดาหารเพื่อนำผลการศึกษามาพิจารณาประกอบข้อเสนอที่ขอให้พิจารณาความเป็นไปได้เพิ่มเติมในส่วนของสนามบินเลิงนกทาเป็นสนามบินพาณิชย์ โครงข่ายคมนาคมทางราง โดย 1. เร่งรัดศึกษาโครงการรถไฟทางคู่ วารินชำราบ – ช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี และ 2. เร่งรัดศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการรถไฟจากสถานีวารินชำราบ – อำนาจเจริญ – เลิงนกทา เชื่อมโครงการรถไฟทางคู่ “บ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม”
2.ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ซึ่งตั้งแต่ปี 2557-2561 ที่รัฐบาลนี้เข้ามา รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขปัญหาไปแล้ว เกือบ 10,000 ล้านบาท และตั้งงบประมาณในปี 2562 ประมาณ 2,000 ล้านบาท
3.ด้านการยกระดับด้านการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (จีเอพี) และเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีพื้นที่รองรับแสนกว่าไร่ มีกลุ่มเกษตรกร 55 กลุ่ม 5 หมื่นกว่าคน ตั้งเป้าผลิตข้าวหอมมะลิจาก 179,000 กว่าไร่ ให้เป็น 1 ล้านไร่ ภายในปี 2564 แต่ปัญหาคือการแปรรูปสินค้าที่ขาดนวัตกรรม จึงขอสนับสนุน ใน 3 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) ด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร ได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ,โครงการยกระดับกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ให้เป็นกลุ่มคลัสเตอร์ต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์ และขอให้สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร
4. ด้านคุณภาพชีวิต เนื่องจากกลุ่มอีสานตอนล่างมีประชากร 4.2 ล้านคน มีโรงพยาบาลไม่เพียงพอ จึงขออนุมัติเพิ่มเติมใน 3 โครงการ คือ โครงการเพิ่มศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาล 1,800 เตียง สามารถรับผู้ป่วยได้มากขึ้น โดยขอแยกไปตั้งโรงพยาบาลส่วนย่อยในพื้นที่ของมณฑลทหารบกที่ 22 ในพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ประมาณ 200 ไร่ มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี สำหรับผู้ป่วยอาการไม่หนักหรือต้องผ่าตัดใหญ่ ซึ่งรัฐบาลก็ตอบรับ ,การศูนย์การแพทย์แผนไทย – พนา เป็นศูนย์การแพทย์ครบวงจร ในตัวเมือง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น และการสนับสนุนครุภัณฑ์ในการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเดชอุดม โดยจัดบริการห้องผ่าตัดสำหรับแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก ตา ระบบทางเดินปัสสาวะและศัลยกรรมทั่วไป
และ 5. ด้านการท่องเที่ยว ยังขาดแคลนบุคลาการ การปรับปรุงเส้นทางการเดินทาง และการประชาสัมพันธ์ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวได้กำหนดการพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นรายจังหวัด และขอสนับสนุนโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเส้นทางท่องเที่ยวและเชื่อมโยงการค้าชายแดน ทางหลวงหมายเลข 217 วารินชำราบ – ช่องเม็ก โดยขอทำเป็นเกาะกลางถนนตลอดสาย ,โครงการเพิ่มศักยภาพการเดินทางบนทางหลวงสายหลักเขาพระวิหาร ทางหลวงหมายเลข 221 ตอนศรีสะเกษ – ภูเงิน-กันทรลักษณ์-เขาพระวิหาร ระยะทาง 50 กิโลเมตร โดยขยายเป็น 4 ช่องจราจรตลอดสาย ,การพัฒนาเส้นทางคมนาคมเพื่อการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขงและการค้าชายแดนเส้นทาง 2112+2222 เขมราฐ – โขงเจียม – พิบูลมังสาหาร โดยขยายความกว้างของถนนและไหล่ทางเส้นทางจราจรตลอดสาย ,การขอรับสนับสนุนกลไกการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวชายแดนช่องเม็กให้เป็นเมืองศูนย์การค้าชายแดน ,การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยววิมานพญาแถน จ.ยโสธร โดยย้ายเรือนจำเพื่อปรับสภาพภูมิทัศน์ และการศึกษาและออกแบบอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน จังหวัดอำนาจเจริญ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบตามที่ประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ให้ดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ใน จ.อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ 19 โครงการ วงเงินลงทุน 59,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2562-2567
สำหรับระบบรางให้เร่งรัดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางจิระ-อุบลราชธานี 318 กม. ลงทุน 36,800 ล้านบาท คาดว่าจะเข้า ครม. ในเดือน ต.ค.นี้ นอกจากนี้ ครม.อนุมัติให้ศึกษาเส้นทาง 3 เส้นทาง เพื่อให้ระบบรางอีสานเหนือ-ใต้สมบูรณ์ คือ ศรีสะเกษ-ยโสธร-ร้อยเอ็ด,วารินชำราบ-มุกดาหาร และอุบลราชธานี-ช่องเม็ก ส่วนโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ครม.อนุมัติหลายเส้นทางให้ขยายจาก 2 เป็น 4 ช่องทางและศึกษาโครงการใหม่ๆเพิ่มเติมขณะเดียวกัน ครม.สัญจรยังเห็นชอบสนับสนุนด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการแก้ไขปัญหาอุทกภัย 50 โครงการ
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะดำเนินการใน 3 ด้านได้แก่ 1.การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 40 โครงการ 2.การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย 5 โครงการ 3.ให้ศึกษาความเหมาะสม 5 โครงการ คือ ทางผันน้ำฝั่งขวาลำน้ำมูลเพื่อบรรเทาอุทกภัย จ.อุบลราชธานี, การบรรเทาอุทกภัยลำน้ำยังและลำน้ำชีตอนล่าง, การบรรเทาอุทกภัยและเพิ่มพื้นที่ชลประทานลำเซบาย, การบรรเทาอุทกภัยและเพิ่มพื้นที่ชลประทานลำเซบก และการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมืองยโสธร ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2557 รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้กลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่างนี้ไปแล้ว 10,000 ล้านบาท และตั้งงบประมาณในปี 2562 ให้อีก 2,000 ล้านบาท รวม 12,000 ล้านบาท.
จากจุดนี้เองหากดูผลการประชุมของครม.สัญจรที่ผ่านมา ที่พลเอกประยุท์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ออกตัวเสมอว่าการเดินสายไปตรวจราชการไม่ใช่ทั้งการหาเสียง หรือแฝงนัยทางการเมือง แต่ทุกครั้งในรอบ 4 ปีของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประชุมคณะรัฐมนตรี (นอกสถานที่) หรือ ครม.สัญจร ไปแล้วอย่างน้อย 7 ครั้ง แต่ละครั้งกวาดคะแนนนิยมให้กับรัฐบาลผ่านโครงการและงบประมาณจำนวนมหาศาล จากนี้ไปโค้งสุดท้ายก่อน “บิ๊กตู่” จะลงจากหลังเสือ การเดินหน้าจัดประชุม ครม.สัญจร รัฐบาลเร่งโหมโครงการไทยนิยมฯ หว่านงบประมาณแบบปูพรมเพื่อสร้างฐานเสียงปูทางสู่การเลือกตั้งนั่นเอง