หน้าแรก news เพชรบุรีท่วมแน่ 5 อำเภอ – ปภ.แจ้ง 9 จังหวัดอีสานน้ำท่วมหนัก

เพชรบุรีท่วมแน่ 5 อำเภอ – ปภ.แจ้ง 9 จังหวัดอีสานน้ำท่วมหนัก

0
เพชรบุรีท่วมแน่ 5 อำเภอ – ปภ.แจ้ง 9 จังหวัดอีสานน้ำท่วมหนัก
Sharing

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลางกองอำนวยการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยกลาง(กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้จังหวัดเสี่ยงภัย แยกเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ เพชรบุรี โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณแม่น้ำเพชรบุรี ตั้งแต่พื้นที่ท้ายเขื่อนแก่งกระจานจนถึงเขื่อนเพชร รวม 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองเพชรบุรี อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.บ้านแหลม และ อ.แก่งกระจาน

ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน วชิราลงกรณและเขื่อนศรีนครินทร์ ได้แก่ กาญจนบุรี รวม 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ศรีสวัสดิ์ อ.ทองผาภูมิ อ.ไทรโยค อ.เมือง อ.ท่าม่วง และอ.ท่ามะกา ขณะที่ จ.ราชบุรี รวม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.บ้านโป่ง อ.โพธาราม และอ.เมือง

สำหรับจังหวัดริมแม่น้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งระดับน้ำยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีจ.บึงกาฬ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เซกา อ.บุ่งคล้า และ อ.เมือง จ.สกลนคร 3 อำเภอ อ.เมือง อ.โพนนาแก้ว และอ.โคกศรีสุพรรณ จ.นครพนม 6 อำเภอ อ.นาแก อ.เรณูนคร อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน อ.เมือง และอ.ธาตุพนม จ.ร้อยเอ็ด อ.เสลภูมิ ยโสธร รวม 2 อำเภอ อ.ป่าติ้ว และอ.มหาชนะชัย จ.มุกดาหาร 3 อำเภอ อ.หว้านใหญ่ อ.เมือง และอ.ดอนตาล จ.อุบลราชธานี 5 อำเภอ อ.เขมราฐ อ.นาตาล อ.โพธิ์ไทร อ.โขงเจียม และอ.บุณฑริก

ขณะที่จ.อำนาจเจริญ แม่น้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.เสนางคนิคม อ.หัวตะพาน อ.ลืออำนาจ และอ.ชานุมาน ส่วนที่จ.อุบลราชธานี น้ำในแม่น้ำโขงล้นตลิ่งในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เขมราฐ อ.โพธิ์ไทร อ.โขงเจียม อ.นาตาล อ.ศรีเมืองใหม่ และอ.เขื่องใน ด้านจ.บึงกาฬ น้ำในแม่น้ำโขง ล้นตลิ่งในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.บุ่งคล้า อ.ศรีวิไล อ.โซ่พิสัย และอ.ปากคาด จ.สกลนคร น้ำท่วม 6 อำเภอ ได้แก่ อ.โพนนาแก้ว อ.เต่างอย อ.นิคมน้ำอูน อ.เมือง อ.โคกศรีสุพรรณ และอ.พรรณานิคม จ.ร้อยเอ็ด น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เสลภูมิ และอ.โพนทอง

ส่วนจ.กาฬสินธุ์ น้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.กมลาไสย และอ.ฆ้องชัย จ.ยโสธร น้ำท่วม 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ไทยเจริญ อ.ป่าติ้ว อ.กุดชุม และ อ.คำเขื่อนแก้ว โดยระดับน้ำเซบายลดลง ส่วนระดับน้ำในลุ่มน้ำชีทรงตัว

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมจับตาสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง โดยถอดบทเรียนจากปี 2559-2560 ก่อนเข้าฤดูฝนเสริมคันกั้นน้ำแม่น้ำเพชรบุรี ตรวจความแข็งแรง ก่อนเกิดฝนตกหนัก โดยเร่งระบายน้ำแม่น้ำเพชรบุรี ทั้งเครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องสูบน้ำจากทุกหน่วยงาน ตรวจการขึ้นลงน้ำทะเล และวางแผนการเร่งระบายน้ำ

ส่วนเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 648 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 101% ปริมาณน้ำไหลเข้า 6.39 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 3.80 ล้าน ลบ.ม. แนวโน้มจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างลดลง และ จะเพิ่มการระบายน้ำเป็น 4.15 ล้าน ลบ.ม. ต่อวันสภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังคงปกติ คาดว่าจะไม่มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่มีน้ำล้นตลิ่ง การบริหารจัดการน้ำ ควบคุมการระบายน้ำออกจากเขื่อน 3.50 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่มการระบายน้ำโดยวิธีกาลักน้ำและเครื่องสูบน้ำอีก 0.3 ล้าน ลบ.ม. การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งและให้ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดสกลนคร บึงกาฬ นครพนม ซึ่งลําน้ำอูนและลําน้ำสงครามไหลผ่าน

ที่ จ.แม่ฮ่องสอน นายสาคร รุ่งเรือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดแม่ฮ่องสอน (ก.ช.ภ.จ.มส.) ครั้งที่ 2/2561 ได้มีมติเห็นชอบประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน หลังเกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดตั้งแต่ช่วงเดือนก.ค. ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้อำเภอต่างๆ ได้แก่ อ.ขุนยวม ได้รับผลกระทบ 5 ตำบล 21 หมู่บ้าน อ.เมือง 6 ตำบล 34 หมู่บ้าน อ.สบเมย 6 ตำบล 38 หมู่บ้าน อ.ปางมะผ้า 4 ตำบล 14 หมู่บ้าน อ.ปาย 5 ตำบล 26 หมู่บ้าน อ.แม่สะเรียง 7 ตำบล 46 หมู่บ้าน และอ.แม่ลาน้อย 4 ตำบล 18 หมู่บ้าน รวม 194 หมู่บ้าน

สำหรับราษฎรที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน ห่างไกลเส้นทางคมนาคม จำนวนเกือบ ร้อยละ 60 ต้องได้รับผลกระทบจากเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด และดินสไลด์ยุบตัว

ที่จ.เลย นายชัยยันต์ สุรสรณ์ นายช่างชลประทานอาวุโส สำนักงานชลประทานทานเลย กล่าวว่า ปัจจุบันได้ระบายน้ำออกวันละ 0.867 ล้านลบ.ม. มีน้ำไหลล้นสปิลเวย์อีก 1,202 ล้านลบ.ม. รวม 2.069 ล้านลบ.ม. ต่อวัน โดยได้เร่งซ่อมประตูน้ำ 1 บาน ที่เสียหายอยู่ ซึ่งขณะนี้ยังถือว่ายังเสี่ยง หากมีปริมาณน้ำหรือฝนตกลงมา ซึ่งน้ำจะเข้ามา ในอ่างเก็บน้ำจำนวนมาก และจะต้องเร่ง พร่องน้ำให้เหลือที่ร้อยละ 80 อย่างเร่งด่วน เพื่อเตรียมรับน้ำที่เติมเข้ามาในอ่างในอีก 1-2 วันนี้ สำหรับการเร่งรัดสร้างกาลักน้ำเพื่อเพิ่มการระบายน้ำออกโดยวางท่อกาลักน้ำ แผน ตั้งเป้าไว้วันละ 1 ล้านลบ.ม. แต่ออกมาแล้ว ปรากฏว่าท่อกาลักน้ำมีประสิทธิภาพเพียง ร้อยละ 65 จึงระบายน้ำได้เพียง 0.65 ล้านลบ.ม./วัน จึงปรับท่อเหล็ก 12 นิ้ว เพิ่มจาก 4 เป็น 5 แถว

ส่วนที่จ.ชัยภูมิ สถานการณ์น้ำป่าที่ไหลทะลักซัดตัวฝายร้าว นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ได้รับรายงานเมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า พบรอยร้าวขนาดใหญ่จำนวนมากบนสันฝายเก็บน้ำบ้านซับไทรทอง หมู่ 8 ต.แหลมทอง อ.ภักดีชุมพล ซึ่งเป็นฝายขนาดใหญ่ เก็บกักน้ำได้เป็นจำนวนมากหลายสิบล้านลบ.ม. ที่จะรับน้ำไหลผ่านจากเทือกเขาพญาฝ่อ และรอยต่อเทือกเขาพังเหย ก่อนที่จะไหลเชื่อมลงมาที่ลำเชียงทา ในเขตอ.ภักดีชุมพล อ.เทพสถิต และอ.หนอง บัวระเหว ก่อนจะไหลลงเชื่อมต่อสู่ลำน้ำชีผ่านไปอีกหลายอำเภอของจ.ชัยภูมิ ซึ่งฝายดังกล่าวมีความกว้างกว่า 6 เมตร ยาวกว่า 35 เมตร ได้เกิดรอยร้าวลึกภายในจำนวนมากหลายจุดมีความยาวความลึกเข้าไปหลายเมตร และเสี่ยงที่จะแตกเสียหายลงทั้งหมดได้

พลตรี สุรินทร์ นิลเหลือง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 15 ได้ตรวจความพร้อมของกองร้อยบรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ 15 เพื่อเตรียมการรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรี โดยได้จัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ 15 ขึ้น โดยมีกำลังพล จำนวน 150 นาย พร้อมด้วย รถยนต์ทหารยกสูง รถผลิตน้ำดื่มสะอาด รถครัวผลิตอาหารเคลื่อนที่ รวมถึงอุปกรณ์ เครื่องมือในการช่วยเหลือต่างๆ เมื่อเกิดอุทกภัย โดยในส่วนของมณฑลทหารบกที่ 15 มีความพร้อมเต็ม 100 % ที่จะให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนหากเกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้นในพื้นที่

ขอบคุณ : ข่าวสด


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่