นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว ศุภชัย ใจสมุทร พรรคภูมิใจไทย ถึงภาพรวมประเทศไทยในอนาคต ว่า ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ(ประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป)ตั้งแต่ช่วงปี 2005 และจะเข้าสู่ช่วงสูงวัยที่สมบูรณ์(aged society) ในปี 2021 หรือพูดง่ายๆว่าจะมีประชากรสูงอายุราว 20% หรือประมาณ 13 ล้านคน นั่นเอง เป็นที่คาดการณ์กันว่าในปี 2030 หรือภายในเวลาแค่ 15 ปี สัดส่วนผู้สูงวัยก็จะกระโดดไปอยู่สูงวัยระดับสุดยอด(Super-aged society) หรือเพิ่มขึ้นถึง 30% ของประชากรทั้งหมด หรือราวๆ 20 ล้านคน
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมนี้ จะทำให้เกิดความท้าทายด้านนโยบายเศรษฐกิจ ความกดดันด้านการคลังและความเสี่ยงด้านสังคม หากไม่มีการปฏิรูป เช่นระบบบำนาญ คาดว่าในปี 2040 ภูมิภาคนี้ต้องใช้เงิน8- 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP)เพื่อจ่ายเงินบำนาญ เท่ากับว่าคนทำงานต้องมีภาระเลี้ยงดูผู้สูงวัยและวัยเด็กอย่างหนักอึ้งเป็นประวัติการณ์
ปัจจุบันผู้ใหญ่วัยทำงานรับภาระดูแลคนแก่และเด็กในอัตราส่วน 4.5 ต่อผู้สูงอายุ 1 คน และเด็กอีก 1 คน ซึ่งหมายความว่าวัยทำงาน 5 คน จะต้องรับภาระคนแก่ 1 คน และเด็ก 1 คน
แต่ในอนาคตปี 2030 ภาระของคนวัยทำงานจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ด้วยสัดส่วนคนวัยทำงานต่อผู้สูงอายุและเด็ก อยู่ที่วัยทำงาน 1.4 ต่อผู้สูงอายุและเด็กอีกหนึ่งคน(1.4:1)ซึ่งนับว่าหนักอึ้ง
ท่านผู้มีส่วนเกี่ยวข้องวางแผนเรื่องนี้กันอย่างไรหรือยัง